บทที่ 4

บทที่ 4 ศิลปะการแต่งกาย


แนวคิดสำคัญ (Main Idea)

     การแต่งกายเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ ในยุคก่อนมนุษย์ต้องการเพียงแค่เครื่องนุ่งห่มปกคลุมร่างกายเพื่อความอบอุ่น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องแต่งกายมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความมีวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันการแต่งกายเป็นการบ่งบอกสถานภาพทางสังคม บางอาชีพมีการกำหนดลักษณะการแต่งกาย หรือเรียกว่าเครื่องแบบ
     เครื่องแต่งกายเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับผู้สวมใส่ บ่งบอกถึงบุคลิกภาพ รสนิยม และบทบาทหน้าที่การงาน หากเราแต่งกายอย่างมีศิลปะ ถูกต้อง เหมาะสมกับตัวเราและสถานการณ์ ก็จะช่วยเสริมสร้างให้เราเป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี ดังนั้น จึงควรแต่งกายให้มีความเหมาะสมกับอาชีพและสถานภาพของตนเอง นอกจากนั้นการแต่งกายที่ดีจะช่วยสร้างความประทับใจให้เกิดแก่ผู้พบเห็น เพราะการแต่งกายที่ดีนั้นเป็นสิ่งแรกที่จะสร้างความพอใจ ความสนใจ ความน่าเชื่อถือ ความศรัทธาและความไว้วางใจได้ 

หัวข้อเรื่อง (Topics)

1. ความหมายของการแต่งกาย
2. ความสำคัญของการแต่งกาย
3. หลักสำคัญในการแต่งกาย
4. การแต่งกายสำหรับสตรี
5. การแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษ
6. การแต่งกายตามพระราชนิยม
7. การแต่งกายในโอกาสต่าง ๆ

สมรรถนะย่อย (Element of Competency)

1. แสดงความรู้เกี่ยวกับศิลปะการแต่งกาย
2. ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะการแต่งกาย

จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)

1. อธิบายความหมายของการแต่งกายได้
2. อธิบายความสำคัญของการแต่งกายได้
3. อธิบายหลักสำคัญในการแต่งกายได้
4. อธิบายการแต่งกายสำหรับสตรีได้
5. อธิบายการแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษได้
6. อธิบายวิธีการแต่งกายตามพระราชนิยมได้
7. อธิบายวิธีการแต่งกายในโอกาสต่าง ๆ ได้

เนื้อหา

     ศิลปะการแต่งกาย หรือศาสตร์แห่งการแต่งตัวของมนุษย์ เพื่อให้เกิดความงดงามอย่างเหมาะสมลงตัว การแต่งตัวหรือการแต่งกายในที่นี้รวมตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ทุกอย่างที่คนนำมาสวมใส่ ปกคลุมหรือประดับตกแต่งร่างกาย
     บางครั้งการแต่งกายกระทำเพื่อให้เกียรติแก่บุคคลและสถานที่ อีกทั้งยังเป็นการแสดงความ นับถือในตนเองด้วย เมื่อตัวเรามีความรู้สึกว่าแต่งกายเรียบร้อย ถูกต้องเหมาะสมกับบุคลิกภาพ สภาพการณ์และกิจกรรมที่กระทำ ก็จะสร้างความมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น

ความหมายของการแต่งกาย

    การแต่งกาย หมายถึง การตกแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้า และเครื่องประดับทุกอย่างตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า หากรู้จักเลือกเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมกับตนเอง จะทำให้มีบุคคลมีบุคลิกภาพที่ดี นอกจากต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับตนเองแล้ว ต้องเหมาะสมกับกาละ คือเหมาะสมกับเวลากลางวัน กลางคืน งานโอกาสต่าง ๆ และเหมาะสมกับเทศะคือเหมาะสมกับสถานที่ เช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ความสำคัญของการแต่งกาย

    การแต่งกายนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อความสวยงาม เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพ และช่วยสร้างความประทับใจให้เกิดแก่ผู้พบเห็นแล้ว การแต่งกายที่ดีนั้นยังเป็นสิ่งแรกที่จะสร้างความพอใจ ความสนใจ ความเชื่อถือ ความศรัทธาและความไว้วางใจให้แก่ผู้พบเห็นได้ ดังนั้น การแต่งกายจึงมีความสำคัญ ดังนี้

1. เพื่อป้องกันอันตรายจากสภาพแวดล้อม
    การสวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ได้แก่ อากาศร้อน อากาศหนาว ลักษณะการประกอบอาชีพโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประเภทต่าง ๆ ที่อาจเกิดอันตรายได้ระหว่างการปฏิบัติงาน ได้แก่ ชุดป้องกันของพนักงานดับเพลิง เครื่องแบบของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นต้น


ภาพที่ 4.1พนักงานดับเพลิงสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะกับลักษณะการปฏิบัติงาน

2. เพื่อบ่งบอกถึงเชื้อชาติ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียม

    เมื่อมนุษย์มีสติปัญญามากยิ่งขึ้น มีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มชนและจากการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ จึงจำเป็นต้องมีระเบียบและกฎเกณฑ์ในอันที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขโดยไม่มีการรุกรานซึ่งกันและกัน จากการปฏิบัติที่กระทำสืบต่อกันมานี้เองในที่สุดได้กลายมาเป็นขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมขึ้นในสมัยโบราณ เมื่อมีการเฉลิมฉลองประเพณีสำคัญต่าง ๆ เช่น การเกิด การตายการเก็บเกี่ยวพืชผล หรือเริ่มมีการสังคมกับกลุ่มอื่น ๆก็จะมีการประดับหรือตกแต่งร่างกายให้เกิดความสวยงามด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ เช่นขนนก หนังสัตว์ หรือทาสีตามร่างกาย มีการสักหรือเจาะบางครั้งก็วาดลวดลายตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อแสดงฐานะหรือตำแหน่งซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีหลงเหลืออยู่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวพื้นเมืองของประเทศต่าง ๆ
                                                  
                    ภาพที่ 4.2การแต่งกายของชน 4 เผ่าไท ในจังหวัดศรีสะเกษ คือ ส่วย เขมร เยอ ลาว

3. เพื่อแสดงสถานะทางสังคม
    สถานะภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ แต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกันจึงทำให้เกิดการแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป สังคมทั่วไปมีหลายระดับชนชั้นมีการแบ่งแยกกันตามฐานะทางเศรษฐกิจ เช่น ชนชั้นระดับเจ้านาย ชาวบ้าน และกรรมกรการแต่งกายสามารถบอกได้ถึงสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่ได้อีกด้วยเช่น ระดับการศึกษา ฐานะความเป็นอยู่

ภาพที่ 4.3การแต่งกายนักเรียนที่บ่งบอกถึงระดับการศึกษา

4. เพื่อบ่งบอกถึงอุปนิสัยของผู้แต่ง

    การแต่งกายสามารถบ่งบอกอุปนิสัยของผู้แต่งกายได้ว่ามีลักษณะอย่างไร เช่น มีความประณีตการรักสวยรักงาม ความเป็นคนพิถีพิถัน รู้จักกาลเทศะ เป็นต้น

หลักสำคัญในการแต่งกาย

1. ความสะอาด(Clean)
    ความสะอาดของเครื่องแต่งกายมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างบุคลิกภาพอย่างมาก หากบุคคลที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีราคาแพง แต่ขาดความสะอาด ทำให้ดูหมดคุณค่าและเป็นการทำลายบุคลิกภาพและความน่าเชื่อถือลง ดังนั้นทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดของเสื้อผ้า พร้อมทั้งทะนุถนอมเนื้อผ้าให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ

ภาพที่ 4.4การแต่งกายสะอาด เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพ

2. ความสุภาพเรียบร้อย (Polite)
    ความสุภาพเรียบร้อยในการแต่งกาย ควรเริ่มตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เช่น ทรงผม สีผม เสื้อผ้า ได้แก่ สี แบบ ขนาด รองเท้า การเลือกเครื่องประดับ กระเป๋าถือ ควรเลือกให้เหมาะสมกับตนเอง ไม่ควรตามแฟชั่น


ภาพที่ 4.5 การให้ความสำคัญในการเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับตนเอง

 3. ความถูกต้องตามโอกาสและกาลเทศะ (Be temperate)
    การแต่งกายให้เหมาะสมกับโอกาส และกาลเทศะเป็นการให้เกียรติตนเอง และผู้อื่น ช่วยให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นโอกาสใดก็ตาม ผู้แต่งควรมีพื้นฐานที่ความสุภาพเรียบร้อย ในการแต่งกายเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ดังนั้นผู้สวมใส่จึงควรพิจารณาว่าตนเองจะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับโอกาส เช่น
    - การไปติดต่อธุรกิจ ควรให้ความสำคัญกับความเรียบร้อย และความสะอาดของเสื้อผ้าและร่างกายเป็นอย่างยิ่ง ควรใส่เสื้อสูทเพื่อให้ดูมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 4.6 การแต่งกายโดยการใส่สูทเพื่อติดต่อธุรกิจ ทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น

    - การไปงานเลี้ยง ควรพิจารณาลักษณะงาน สถานที่จัดงานว่ามีความหรูหรามากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นงานเลี้ยงตอนกลางวันของบริษัท อาจใส่เสื้อผ้าชุดทำงานกลางวันปกติ โดยเสริมเครื่องประดับให้ดูสดใสขึ้น สำหรับงานกลางคืน ควรสวมเสื้อผ้าที่ดูหรูหรามากขึ้น แต่งหน้าเข้มมากขึ้นและสวมเครื่องประดับพอสมควร


ภาพที่ 4.7 การไปงานเลี้ยงกลางคืน ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า

    - การไปเล่นกีฬา ควรสวมเครื่องแต่งกายที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น เสื้อทีเชิ้ต กางเกงวอร์ม รองเท้าผ้าใบ ซึ่งนอกจากจะเหมาะสมแล้ว ยังช่วยให้มีความคล่องตัวและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

4. ความเหมาะสมกับอาชีพ (Appropriate to the profession)
    การแต่งกายให้เหมาะสมกับอาชีพเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่ง เพราะบางอาชีพเป็นอาชีพที่เสี่ยงกับอันตรายจึงมีชุดเฉพาะที่ใส่ในการปฏิบัติงาน เช่น พนักงานดับเพลิง พนักงานไฟฟ้า หรือบางอาชีพต้องการความน่าเชื่อถือ ก็ควรเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมเพื่อเป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพ เช่น ครู แพทย์ พนักงานธนาคาร เป็นต้น

ภาพที่ 4.8 การแต่งชุดเฉพาะสำหรับพนักงานทำให้ดูสวยงาม น่าเชื่อถือ

5. ความเหมาะสมกับวัย (Age appropriate)
    การแต่งกายนั้น ผู้แต่งกายควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับอายุเป็นองค์ประกอบ ดังนี้

    5.1 วัยเด็ก เสื้อผ้าควรจะมีสีสันสดใส รูปแบบน่ารัก มีลายการ์ตูน
ภาพที่ 4.9 เสื้อผ้าที่เหมาะสำหรับเด็ก

    5.2 วัยรุ่น เสื้อผ้าควรมีสีสันอ่อน ๆ แบบของเสื้อผ้าเป็นไปตามลักษณะรูปร่างและความชอบของแต่ละคน ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่เปิดเผย หรือรัดรูปจนเกินไป โดยเฉพาะเสื้อหรือกางเกงที่รัดรูปมาก ๆ อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่มีราคาแพงเกินความจำเป็น และไม่ควรใส่เครื่องประดับที่ดูหรูหรา ซึ่งนอกจากดูไม่เหมาะสมกับวัยแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อตนเองอีกด้วย สำหรับรองเท้าควรเป็นรองเท้าที่สวมใส่สบาย สะดวก คล่องตัว เหมาะกับกิจกรรม และไม่ควรซื้อรองเท้าที่แพงเกินไป เนื่องจากในวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างรวดเร็ว


ภาพที่ 4.10 เสื้อผ้าที่เหมาะสำหรับวัยรุ่น

    5.3 วัยผู้ใหญ่ เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับวัยผู้ใหญ่ควรมีสีสุภาพเรียบร้อย เพื่อให้ดูสง่างาม เหมาะสมกับวัยและบุคลิกภาพของตนเอง


ภาพที่ 4.11 เสื้อผ้าที่เหมาะสำหรับวัยผู้ใหญ่

6. ความเหมาะสมกับรูปร่าง (The shape)
    ศิลปะการแต่งกายที่ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพและภาพลักษณ์ได้เป็นอย่างดี คือการแต่งกายให้เหมาะสมกับรูปร่างและสัดส่วนของตน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เสื้อผ้าที่แต่งช่วยอำพรางจุดบกพร่องของรูปร่าง พร้อมทั้งส่งเสริมจุดเด่นของรูปร่างทำให้เกิดความเหมาะสม สวยงาม อย่างลงตัว


การแต่งกายสำหรับสตรี

บุคคลจะต้องรู้จักพิจารณาบุคลิกภาพของตนเองว่าเป็นคนมีรูปร่าง ผิวพรรณ สัดส่วนเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เลือกเสื้อผ้าได้อย่างเหมาะสม ศิลปะการแต่งกายที่ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพและภาพลักษณ์ได้เป็นอย่างดี คือการแต่งกายให้เหมาะสมกับรูปร่าง สัดส่วนของตน โดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อให้เสื้อผ้าที่แต่งช่วยอำพรางจุดบกพร่องของรูปร่าง พร้อมทั้งส่งเสริมจุดเด่นของรูปร่างทำให้เกิดความเหมาะสม สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี ยิ่งต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเลือกเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม ซึ่งปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาการแต่งกายสำหรับสตรี มีดังนี้

1. รูปร่าง 
    การแต่งกายให้เหมาะกับรูปร่างจะช่วยเสริมบุคลิกภาพให้สุภาพสตรีดูดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีรูปร่างอยู่ใน 3 ขอบข่าย ได้แก่ รูปหัวใจ รูปแอปเปิ้ล และรูปลูกแพร์ ดังนั้น สุภาพสตรีจะต้องพิจารณาว่ารูปร่างของตนเองนั้นจัดอยู่ในขอบข่ายใด เพื่อว่าจะได้เลือก เครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับรูปร่างของตน

    .1 หุ่นทรงรูปหัวใจ สุภาพสตรีที่จัดอยู่ในขอบข่ายหุ่นทรงรูปหัวใจ ได้แก่ คนที่มีช่วง อกใหญ่ไหล่กว้างและเรียวลงที่ช่วงเอว สะโพกเล็ก ขาเรียว มองดูแล้วจะรู้สึกว่าช่วงบนใหญ่กว่าช่วงล่วง สตรีที่มีหุ่นแบบนี้ควรเลือกสวมเสื้อนอกตัวหลวม ๆ ขนาดสบายที่ไม่รัดเอวจนคอด จนทำให้เห็นข้อบกพร่องของหุ่นอย่างชัดเจน คนที่มีหุ่นทรงรูปหัวใจจะมีช่วงขาที่เรียวจึงสามารถเลือกใส่กางเกงขาลีบได้ เสื้อที่คนหุ่นประเภทนี้ไม่ควรเลือกสวมใส่คือเสื้อที่ค่อนข้างรัดรูปโดยเฉพาะรัดช่วงเอวหรือเสื้อที่มีฟองน้ำหนุนไหล่เพราะจะทำให้ดูไหล่ใหญ่ยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ก็ไม่ควรสวมเสื้อนอกกับเสื้อในมีสีตัดกัน เพราะจะดึงดูดสายตาให้ผู้อื่นมองเห็นความบกพร่องได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

    1.2 หุ่นทรงแอปเปิ้ล คือสุภาพสตรีที่มีช่วงกลางของลำตัว ได้แก่ เอว และหน้าท้อง ค่อนข้างหนาแต่ยังมีส่วนของสะโพกที่ได้ส่วน ช่วงแขนและท่อนขาเพรียว สตรีที่มีหุ่นทรงแอปเปิ้ลควรเลือกสวมเสื้อเข้ารูปขนาดความยาวปิดหน้าท้องกับกางเกงขาลีบ จะเหมาะกว่าการสวมเสื้อที่มีกระเป๋าตรงช่วงเอวกับกางเกงที่จีบเพราะจะทำให้ดูช่วงเอวใหญ่ขึ้นไปอีก

ภาพที่ 4.12 การเปรียบเทียบรูปร่างทรงแอปเปิ้ลกับรูปร่างทรงลูกแพร์

    1.3 หุ่นทรงลูกแพร์ คือสุภาพสตรีที่ช่วงล่าง ซึ่งได้แก่สะโพกและต้นขาใหญ่กว่าส่วนบนและส่วนกลางของลำตัว อกเล็กและเอวเล็ก สตรีหุ่นทรงลูกแพร์ควรเลือกใส่เสื้อตัวยาวคุลมสะโพกกับกางเกงทรงหลวม การสวมเสื้อเสริมฟองน้ำทำให้ไหล่กว้างขึ้นจะดูทำให้สมดุลกับสะโพก และการใช้กระดุมเม็ดใหญ่ ก็จะช่วยให้ดึงสายตาผู้อื่นให้สนใจในส่วนบนมากกว่าที่จะมองส่วนล่างซึ่งเป็นส่วนที่บกพร่อง สิ่งที่สตรีหุ่นทรงลูกแพร์ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดคือกางเกงฟิต ๆ ที่ใส่แล้วพอดีตัว ยิ่งถ้าหากใส่กับเสื้อที่มีความยาวไม่คลุมสะโพกด้วยแล้ว จะทำให้เน้นส่วนที่บกพร่องได้อย่างชัดเจน

2. การแต่งกายเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของร่างกาย 
    คนแต่ละคนย่อมมีบุคลิกภาพภายนอกที่แตกต่างกันออกไป บางส่วนของร่างกายอาจดูดีเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขหรือเติมแต่ง ในทางตรงกันข้ามหากบางส่วนของร่างกายอาจดูไม่สมส่วน จะต้องมีการแก้ไขและเติมแต่ง หรือ แต่งกายอำพรางส่วนบกพร่องของรูปร่างนั้นให้หายไป การแต่งกายเพื่อช่วยแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อด้อยให้ดูดีขึ้น ดังนี้

    2.1 คอสั้น การแต่งกายที่จะทำให้คนคอสั้นดูดีขึ้น คือเสื้อคอเปิด จะเป็นเสื้อคอวี คอแหลมหรือคอเว้า จะเป็นแบบไหนจะต้องพิจารณาลักษณะของใบหน้าประกอบด้วย หรืออาจจะเลือกสวมเสื้อ ไม่มีปก เลือกผูกผ้าพันคอหลวม ๆ หากจะสวมสร้อยคอควรเลือกสร้อยคอที่มีความยาวปานกลาง คนคอสั้น ควรเลือกไว้ผมสั้นจะดูดีกว่า การแต่งกายที่ควรหลีกเลี่ยงคือเสื้อคอปิด ปกสูงผูกโบหรือ เน็กไท เสื้อคอเต่า คอจีน การใช้พันคอที่ผูกชิดคอ และการสวมสร้อยคอสั้น ๆ เพราะจะเป็นการดึง จุดสนใจไปไว้ที่คอ

    2.2 คนเตี้ย ควรเลือกใส่เสื้อผ้าคอวี แบบเรียบ ๆ ถ้าเป็นลายดอกควรเป็นดอกเล็ก ๆ ถ้าจำเป็นต้องใช้เข็มขัดควรเป็นเข็มขัดเส้นเล็ก ๆ และควรเลือกใส่รองเท้าที่มีส้น หรือส้นสูง หากเป็นสุภาพสตรีควรเลือกใส่กระโปรงสั้นจะเหมาะสมกว่ากระโปรงยาว ผ้าที่ควรเลือกนำมาตัดเสื้อผ้านั้น ควรเป็นผ้าเนื้อเดียวกันและสีเดียวกันตลอดทั้งส่วนบนและส่วนล่าง หากเป็นคนละสีจะทำให้สายตาของผู้ดูหยุดอยู่ตรงที่สีตัดกัน

    2.3 คนสูง เหมาะกับเสื้อปกสูง หรือปกกว้าง เน้นส่วนเอวด้วยเข็มขัด หรือผ้าพันเอวขนาดใหญ่ สุภาพสตรีควรเลือกกระโปรงที่แนบสะโพก มีเสื้อตัวนอกคลุมสะโพกจะทำให้ดูดีขึ้น ความยาวของกระโปรงควรเลยเข่า

    2.4 คนอ้วน เหมาะกับเสื้อคอแหลม สีเข้ม หากมีลายควรเป็นลายเล็ก ลายทางตรงใช้เข็มขัด หัวเล็ก หัวเข็มขัดเป็นผ้าหุ้มสีเดียวกับเสื้อเพื่อไม่ให้สะดุดตาเกินไป เสื้อที่ตึงหรือฟิตลำตัวควรหลีกเลี่ยง กระโปรงต้องเป็นกระโปรงยาวเลยเข่าเสมอ

    2.5 คนผอม ควรเลือกเสื้อคอสูง หรือแคบแนบคอ ปกกว้างมาก ๆ เสื้อจีบหรือพองส่วนอก แขนสามส่วนเหมาะกว่าแขนสั้น ผ้าลายขวางเหมาะกว่าลายทางลง ใช้ผ้าคาดเอวหรือเข็มขัดขนาดใหญ่ กระโปรงจีบพอง อย่าสั้นมาก เครื่องประกอบการแต่งกาย เช่น กระเป๋า รองเท้า เข็มกลัด ห่างหู ควรเลือกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ รองเท้าที่สวมไม่จำเป็นต้องเป็นรองเท้ามีส้นเสมอไป

    2.6 ไหล่กว้าง ควรเลือกเสื้อคอวี คอแหลม และคอเว้าลึก ซึ่งจะทำให้ไหล่ดูแคบลง หนุนไหล่บาง ๆ หรือไม่หนุนเลย หากเป็นชุดว่ายน้ำหรือชุดราตรีต้องเลือกแบบที่มีสายคล้องไหล่ที่มีขนาด ไม่ใหญ่นัก หลีกเลี่ยงเสื้อคอกว้าง หรือเสื้อที่มีรายละเอียดช่วงไหล่และช่วงบ่ามาก ๆ และการใช้เครื่องประดับขนาดใหญ่บนบ่า

    2.7 ไหล่แคบ เหมาะกับเสื้อคอกว้าง คอปาด เสื้อแขนพอง มีจีบรูด หรือระบายที่หัวแขนเพิ่มรายละเอียดบนช่วงไหล่และบ่าด้วยลายขวาง ติดแผ่นเสริมไหล่ ไม่ควรเลือกเสื้อคอแหลมลึกมากหรือเสื้อคอต่ำที่ไม่หนุนไหล่ และเสื้อคอเต่า หลีกเลี่ยงการติดเข็มกลัดที่ปกเสื้อและอก

    2.8 ไม่มีเอว หรือคนหุ่นตรง ซึ่งมีขนาดของอกเอวและสะโพกเท่ากันหมด ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งคนผอมและคนอ้วน หากเป็นคนผอมควรเลือกเสื้อที่เอาชายเสื้อสอดไว้ในกระโปรง ใช้เข็มขัดเป็นตัวแบ่งระหว่างส่วนบนและส่วนล่างของร่างกาย แต่ถ้าเป็นคนอ้วนไม่ควรเอาชายเสื้อใส่ไว้ในกระโปรง ควรเลือกเสื้อตัวหลวมที่มีความยาวคลุมสะโพก ที่อาจโค้งเข้าเอวได้นิดหน่อย

    2.9 เอวใหญ่ คนเอวใหญ่จะแตกต่างจากคนไม่มีเอว เพราะคนเอวใหญ่นั้นยังมีส่วนเว้าส่วนโค้งอยู่บ้าง คนตัวสูงที่เอวใหญ่จะได้เปรียบกว่าคนตัวเตี้ย คนเอวใหญ่เหมาะกับเสื้อเข้ารูปแบบหลวม ๆ หรือใส่เสื้อสองชั้นมีเสื้อตัวนอกกับตัวใน คาดเข็มขัดได้แต่ต้องเป็นเส้นเล็ก ๆ หรือแบบโค้งต่ำ

    2.10 เอวคอด ได้จัดว่าเป็นความบกพร่องเพราะคนเอวเล็กจัดว่าเป็นคนที่มีเอวสวย ควรเลือกชุดที่เข้ารูปเน้นเอว ถ้าเป็นเสื้อนอกก็เป็นเสื้อที่เปิดด้านหน้าให้เห็นเอว ควรเลือกกระโปรงบาน ผ้าเนื้อบางหากเป็นชุดราตรีควรเป็นชุดที่มีเข็มขัด

    2.11 อกเล็ก สุภาพสตรีควรเลือกใส่เสื้อยกทรงที่เสริมฟองน้ำ เสื้อตัวนอกเป็นเสื้อลายขวางตีเกล็ดตะเข็บบนแนวอก เพื่อทำให้อกดูหน้าและใหญ่ขึ้น หรืออาจจะเลือกการสวมเสื้อทับกับหลายชั้น เช่น เสื้อกั๊กทับเสื้อเชิ้ต หรือสวมเสื้อแจ็กเก็ต หลีกเลี่ยงเสื้อคอลึก เสื้อเอวลอย กางเกงหรือกระโปรง เอวสูง เสื้อรัดรูป เสื้อลายแนวตั้ง

    2.12 สะโพกใหญ่ ต้นขาใหญ่ ควรเลือกเสื้อผ้าที่เป็นลายทางตรง กางเกงหรือกระโปรงควรเป็นสีเข้มจับคู่กับเสื้อสีสว่าง เพิ่มเครื่องประดับส่วนบน เช่น ผ้าพันคอ สร้อยคอ เข็มกลัด เพื่อสร้างความสนใจส่วนบนมากกว่าส่วนกลาง เสื้อผ้าที่ควรหลีกเลี่ยงคือกระโปรงสั้น กางเกงขาสั้น กระโปรงเข้ารูป กางเกงเข้ารูป กางเกงหรือกระโปรงมีกระเป๋า กางเกงปลายขาสอบเข้า กางเกงหรือกระโปรงที่เป็นผ้าลายขวางหรือสวมเสื้อที่ชายเสื้ออยู่ตรงส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสะโพก หรือเสื้อตัวนอกที่ผ่าชายด้านหลัง

    2.13 สะโพกยื่น มักจะคู่กับเอวแอ่น จะต้องพยายามแก้ไขบุคลิกภาพของตนเอง ส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้แล้วจะต้องเลือกใส่เสื้อคลุมตัวยาวให้พอดีสะโพก ตัวหลวม ไม่เน้นเอว

    2.14 น่องใหญ่ ข้อเท้าใหญ่ ควรเลือกใส่กระโปรงที่มีความยาวระดับเข่าหรือคลุมเข่า สวม ถุงน่องสีเข้ม รองเท้าสีเข้มพื้นหนา หรือรองเท้าแตะที่มีสายรองเท้าเส้นใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงกางเกง ขาสามส่วน กระโปรงยาวระดับน่อง รองเท้าส้นแหลม ถุงน่องเนื้อเงาสีอ่อน และเครื่องประดับขา ทุกชนิด

    2.15 ขาสั้น ควรเลือกใส่กระโปรงสั้นเหนือเข่า กางเกงหรือกระโปรงเอวสูง กางเกงทรงแคบลายทางตรง รองเท้าส้นสูงปานกลาง เสื้อผ้าที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กระโปรงที่มีการออกแบบลวดลายหรือขลิบบริเวณชายกระโปรง กระโปรงยาวตัวหลวม กางเกงขากว้าง กางเกงลายตาหมากรุก รองเท้าส้นสูงมาก หรือส้นเตี้ยเกินไป

    2.16 ขาโก่ง ไม่ควรเลือกใส่กระโปรงแคบ ควรใช้ผ้าหนา และตัดหลวม ๆ

    2.17 หน้าท้องใหญ่ เป็นสิ่งที่แก้ไขยาก จะต้องอาศัยเสื้อที่มีความยาวคลุมเลยหน้าท้องลงมา อย่าให้ชายเสื้อมาหยุดพอดีที่หน้าท้อง หากจำเป็นต้องใส่ชายเสื้อไว้ในกระโปรงควรเลือกเสื้อที่ตัวใหญ่หน่อยและดึงให้หย่อนลงมาเพื่อปิดหน้าท้อง เลือกใส่กระโปรงย้วย กระโปรงทรงเอ กระโปรงบาน จะเหมาะกว่ากระโปรงแคบ

ภาพที่ 4.13 การแต่งกายที่สุภาพเหมาะกับการไปทำงานสำนักงาน

3. ผิวพรรณ 
    การเลือกสีของเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสีผิว เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมบุคลิกภาพได้อีกทางหนึ่ง

    3.1 ผิวสีขาวจัด ควรเลือกเสื้อผ้าสีน้ำตาลอ่อน สีเขียวอ่อน สีเขียวหม่น สีเหลืองอมส้ม สีส้มอมน้ำตาล สีเลือดหมู ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีอ่อน เช่น ชมพูอ่อน สีเหลืองอ่อน เพราะจะทำให้ผิวซีด


    3.2 ผิวสีคล้ำ ควรเลือกสีชมพู สีเหลือง สีฟ้า หากเป็นเสื้อลาย ควรออกลายสีเหลือง สีฟ้า สีชมพู สีส้ม สีเปลือกข้าวโพด ไม่ควรเลือกสีขรึม ๆ เช่น น้ำตาลแก่ เทาแก่ น้ำเงินแก่ เพราะจะทำให้ดู ผิวคล้ำมากขึ้น

4. สีของเสื้อผ้า

    4.1 สีเข้ม มีส่วนผสมของสีดำ เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีน้ำเงิน สีม่วง ฯลฯ จะช่วยพรางรูปร่างให้ดูผอมลง เหมาะกับคนที่ค่อนข้างอ้วน

    4.2 สีสดใส เช่น สีแดงจ้า สีส้ม สีชมพูเข้ม ฯลฯ จะช่วยให้รูปร่างดูใหญ่ขึ้นกว่าความเป็นจริง

    4.3 สีอ่อนใส ที่มีส่วนผสมของสีขาวอยู่มาก เช่น สีเหลืองอ่อน สีเบจ สีเขียวอ่อน สีฟ้าอ่อน สีชมพูอ่อน สีส้มอ่อน ฯลฯ จะช่วยให้รูปร่างดูอ้วนหรือใหญ่ขึ้นกว่าความเป็นจริง เหมาะสำหรับคนที่มีรูปร่างเล็ก ผอมบาง

5. ลักษณะของเนื้อผ้า

    5.1 เนื้อผ้าบางพลิ้ว เป็นมันเงา จะเน้นสัดส่วนรูปร่างของผู้สวมใส่ ทำให้ดูรูปร่างใหญ่ขึ้นมากว่าปกติ ไม่เหมาะกับคนที่มีรูปร่างไม่ดี

    5.2 เนื้อผ้าแข็งหรือหยาบกระด้าง เนื้อผ้าหนาจะทำให้ผู้สวมใส่ดูรูปร่างใหญ่กว่าปกติ

    5.3 เนื้อผ้าที่มีลวดลาย เช่น ลายตาราง ลายเส้น หากเส้นมีความหนา และมีสีตัดกับสีพื้น จะทำให้ผู้สวมใส่ตัวใหญ่กว่าปกติ หรืออาจดูตัวเล็กลง ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของลายเส้นว่าเป็นลายขวางหรือลายดิ่ง หรือใช้สีสันแบบไหน

6. แบบของเสื้อผ้า 
    การแต่งกายที่ช่วยเสริมบุคลิกภาพของผู้สวมใส่นั้น แบบของเสื้อผ้าเป็น สิ่งสำคัญที่จะต้องเหมาะสมกับรูปร่างของผู้สวมใส่ ดังนั้นก่อนอื่นเราจึงควรสำรวจรูปร่างของตนเอง เพื่อให้ทราบถึงจุดดีหรือจุดบกพร่องของสัดส่วนของเรา เพื่อที่จะเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับรูปร่าง ตามหลักการดังนี้

    6.1 ลำตัวเล็กแต่แขนขาใหญ่ ควรเลือกเสื้อผ้าที่ช่วยพรางให้ดูแขนขาเล็กลง เช่น เสื้อเชิ้ตเข้ารูปกับกระโปรงทางเอไลน์ ยาวเสมอเข่า และผ่าข้างเล็กน้อย หรือชุดสูทเข้ารูปคอวีสีเข้มกับกระโปรง ทรงสอบ ยาวเสมอเข่า หรืออาจเป็นแซ็กคอกว้าง ตัวหลวม ผ้าพลิ้ว แขนกุด แล้วใส่สูททับ

    6.2 ลำตัวช่วงบนสั้นกว่าช่วงล่าง เหมาะกับเสื้อสูทลายทางตรงเข้ารูปยาวคลุมสะโพกกับกระโปรงเอวต่ำทรงเอไลน์ หรือกางเกงเอวต่ำขาตรง หรืออาจสวมแซ็กคอวีตัวแหลม และคาดเข็มขัดให้อยู่ระดับใต้เอวจริงของผู้สวมใส่ จะทำให้ลำตัวช่วงบนยาวขึ้น

    6.3 ลำตัวช่วงบนยาวกว่าช่วงล่าง ไม่ควรใส่กางเกงหรือกระโปรงเอวต่ำ เพราะจะทำให้ ช่วงล่างยิ่งดูสั้นและไม่เหมาะกับแซ็กเพราะมีเนื้อที่สะโพกและต้นขามาก แต่ควรสวมสูทหรือแจ็กเก็ตตัวหลวม ความยาวไม่เกินระดับสะโพกหรือกระโปรงสอบผ่าข้าง อาจใส่รองเท้าส้นสูงประมาณ 2.5 นิ้ว จะช่วยให้ช่วงขาดูเพรียวมากขึ้น

    6.4 รูปร่างอวบ หน้าอก สะโพก และช่วงตัวใหญ่ ควรใส่เสื้อเชิ้ตเข้ารูปปลดกระดุมบนหนึ่งหรือสองเม็ด โดยใส่เสื้อยืดคอกว้างไว้ด้านใน และใส่กางเกงขาตรงสีเข้ม เช่น ดำ น้ำตาล เพื่อช่วยให้รูปร่าง ดูเพรียวมากขึ้น หรืออาจใส่สูทเข้ารูปพอดีตัว ความยาวปิดสะโพกกับกางเกงขาตรงลายทาง แต่ควรเน้นที่สีเข้มถ้าใช้สีอ่อนจะทำให้ดูอ้วนมากขึ้น

    6.5 รูปร่างผอมบาง ควรเลือกเสื้อผ้าที่ช่วยให้ดูอ้วนขึ้นเล็กน้อย เช่น เสื้อ กางเกง ที่เนื้อผ้าหนา สีอ่อน ๆ หรือสีสันสดใส หรืออาจเลือกเสื้อผ้าลายขวางก็จะช่วยให้ดูดีขึ้น ควรใส่กางเกงที่ขากว้างเล็กน้อย สำหรับแซ็กควรปักเลื่อมเล็กน้อยจะทำให้รูปร่างไม่ดูผอมจนเกินไป

7. การเลือกใช้เครื่องประดับ มีแนวทางการเลือก ดังนี้

    7.1 เข็มกลัด ควรใช้เข็มกลัดเมื่อสวมใส่เสื้อที่เป็นสีพื้น แบบเรียบ ๆ โดยเลือกเข็มกลัดที่มีแบบและสีไปกันได้ดีกับแบบและสีของเสื้อผ้า ต่างหู สร้อยคอ และแหวน ควรติดเข็มกลัดบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น ปกเสื้อ หรือเหนือกระดุมเม็ดบน เป็นต้น

    7.2 เข็มขัด ควรเลือกขนาดของเส้นเข็มขัดให้เหมาะสมกับเอวของตน หากเป็นความเอวหนาใหญ่ ควรใช้เข็มขัดเส้นเล็ก ๆ สีขรึม ๆ เพื่อให้เอวที่หนาใหญ่ไม่เป็นที่สะดุดตา สำหรับคนเอวเล็ก เอวบาง ควรใช้เข็มขัดเส้นที่มีขนาดใหญ่ มีลวดลาย หรือเป็นโลหะห้อยตุ้งติ้งได้ เพราะจะทำให้เอวที่เป็นจุดเด่นของร่างกายได้อวดโฉมสะดุดตาผู้คน

    7.3 สร้อยคอ การสวมใส่สร้อยคอ ควรพิจารณารูปหน้าและแบบคอเสื้อ แล้วจึงเลือกขนาดความยาวของสร้อยคอ เช่น ถ้าเป็นคนรูปหน้ากลมควรจะสวมใส่เสื้อคอตื้นแทนคอแหลมลึก และควรสวมสร้อยคอเส้นยาวเรียว แต่ถ้าเป็นคนรูปหน้ายาว ก็ไม่ควรสวมเสื้อคอแหลมลึก รูปตัววีหรือใส่สร้อยคอเส้นยาวเพราะจะยิ่งเน้นให้เห็นว่าหน้ายาว ควรสวมเสื้อคอกลมแบบติด ๆ คอ หรือเป็นรูปตัวยู แล้วสวมสร้อยคอเส้นสั้น เพื่อให้แลดูหน้าไม่ยาวนัก

    7.4 ต่างหู เป็นเครื่องประดับที่จะช่วยลด หรือเพิ่มเครื่องหน้าของสตรีให้ดูหรูและแจ่มใสขึ้น ข้อแนะนำในการเลือกต่างหูให้เหมาะสมกับรูปหน้ามี ดังนี้

    7.4.1 รูปหน้ากลม ควรใช้ต่างหูทรงเรขาคณิตแบบที่รูปทรงเป็นเหลี่ยม เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือทรงขนมเปียกปูน ควรเป็นทรงยาว ๆ หรือห้อยตุ้งติ้ง ไม่ควรใส่ห่างหูทรงเหลี่ยมด้านเท่า ทรงกลม รูปดอกไม้กลมโต ๆ หรือทรงที่จะไปเพิ่มความกว้างให้กับแก้ม หากใส่ห่างหูติดหูที่เป็นมุก เพชร และทอง ควรเลือกขนาดกลาง ๆ หากเล็กเกินไปจะขัดกับแก้มกลม ๆ ที่มีเนื้อทำให้ต่างหูจมหายไปในหน้ากลม ๆ

    7.4.2 รูปหน้าเหลี่ยม คือใบหน้าที่มีกรามกางออกมาเห็นชัดหรือค่อนข้างชัด ควรลบความเหลี่ยมของคงด้วยต่างหูรูปทรงกลม ทรงรี ทรงพุ่ม จะใช้แบบติดหูหรือห้อยตุ้งติ้งก็ได้

    7.4.3 หน้ารูปหัวใจ คือรูปหน้าที่คางเล็กเรียวแหลม แต่หน้าผากกว้าง ต่างหูสำหรับคนหน้ารูปนี้มีหลายแบบ เช่น ต่างหูห้อยที่เป็นพวงตรงชาย ต่างหูห้อยยาวรูปสามเหลี่ยม เลือกแบบที่มีฐานกว้าง ๆ ห้อยตรงชายแล้วเรียวขึ้นไปหาติ่งหู หรือจะใช้ต่างหูรูปทรงยาว ๆ ทรงกลม ๆ ติดหูก็จะช่วยลบความเรียวของคางได้

    7.4.4 รูปหน้ายาว หน้ายาวจะต่างจากหน้ารูปไข่ คือช่วงความยาวของใบหน้าจะยาวมากเกินไป ทรงของต่างหูจึงต้องเพิ่มตรงช่วงหูให้ดูมีแก้มออกมา ควรใช้เฉพาะต่างหูแบบติดหู อย่าใช้แบบห้อยตุ้งติ้ง หรือต่างหูแบบทรงรี ๆ ยาว ๆ

7.5 แหวน มีแนวทางการเลือก ดังนี้

    7.5.1 นิ้วสั้นทู่ ไม่เรียวงามและเล็บเล็กรูปสี่เหลี่ยม ควรใช้แหวนแถว หรือแหวนเหลี่ยมวงบาง ๆ อย่าเลือกแหวนที่มีลักษณะหัวกลมใหญ่

    7.5.2 นิ้วสั้น แต่มีความเรียวงามและเล็บสวย ควรสวมแหวนหัวไข่รี ๆ เพรียว ๆ ตัวเรือนบาง ๆ แต่จะต้องไม่แคบกว่าความกว้างของนิ้วจะช่วยให้นิ้วดูเรียวยาวขึ้น

    7.5.3 นิ้วยาวแต่เล็กเกินไป และเล็บสั้น ควรใช้แหวนแถวลักษณะเป็นแถบ ๆ แบบรัสเซีย

    7.5.4 นิ้วยาว แต่ผอมมาก ๆ ไม่อวบสวย ควรสวมแหวนตัวเรือนหนา และมีหัวแหวนกลม ๆ หรือหัวแหวนรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ จะช่วยเพิ่มความอวบอูมสมส่วนมากขึ้น

การเลือกเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพของสุภาพสตรีแต่ละคนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พอจะสรุปได้ ดังนี้

1. เส้นแนวตั้งและเส้นชี้ออกทำให้ดูสูงขึ้น
2. เส้นชี้เข้าทำให้เตี้ยลง
3. เส้นแนวนอนทำให้ดูใหญ่ขึ้นและทำให้เตี้ยลง
4. ผ้าสีเข้มทำให้ผอมลงและสูงขึ้น
5. ผ้าสีอ่อนทำให้อ้วนขึ้นและเตี้ยลง
6. ผ้าเนื้อด้านทำให้สูงขึ้นและผอมลง
7. ผ้าเนื้อเงาทำให้อ้วนขึ้นและเตี้ยลง

ภาพที่สตรี 4.14 เครื่องประดับสำหรับสุภาพ

การแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษ

    บางคนอาจคิดว่าสุภาพบุรุษสามารถที่จะหาเครื่องแต่งกายได้ง่ายกว่าสุภาพสตรี แต่ในความ เป็นจริงแล้วการแต่งกายของสุภาพบุรุษก็จะต้องพิถีพิถันไม่น้อยกว่าสุภาพสตรีเลย หากสุภาพบุรุษไม่รู้จักเลือกเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมแล้ว จะดูเป็นคนแต่งตัวเชย หรือแต่งตัวไม่เป็นไปเลย หรือบางคนเลือกเครื่องแต่งกายมากเกินไป เมื่อเดินตามท้องถนนเหมือนกับหลุดมาจากโลกของแฟชั่น ไม่ใช่คนธรรมดา ดังนั้นสุภาพบุรุษต้องเลือกแต่งกายให้มีความพอดี ซึ่งปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาการแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษ มีดังนี้

1. โอกาส
   1.1 การแต่งกายไปทำงาน หากเป็นสุภาพบุรุษที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ การแต่งกายส่วนใหญ่จะเป็นกางเกงสีเข้ม อาจเป็นโทนสีเทา สีเทาอมเขียว สีน้ำตาล สีกรมท่า เสื้อเชิ้ตสีสุภาพ ถ้าเป็นลายต้องเป็นลายเล็ก ๆ หาเสื้อเป็นลายทาง ต้องเลือกใช้เน็กไทสีพื้น หรือลายสี่เหลี่ยม หรือลายข้าวหลามตัด
นอกจากนี้แล้วผู้ชายยังต้องพิถีพิถันเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อจะได้มีความสมบูรณ์แบบ รายละเอียดเหล่านั้น ได้แก่ ถุงเท้า รองเท้า เข็มขัด ถุงเท้าอาจมีลายหรือไม่มีก็ได้ สีควรเข้ากับกางเกง เข็มขัดกับรองเท้าจะต้องเป็นสีเดียวกัน รองเท้าสีดำเข็มขัดก็จะต้องเป็นสีดำ เมื่อเลิกงานแล้วและจะไปกินอาหารกับเพื่อน ๆ อาจปลดเน็กไทออก พับแขนเสื้อขึ้นได้ หากจะต้องไปงานที่เป็นทางการควรหาสูทมาสวมทับเพื่อเป็นการให้เกียรติงานหรือสถานที่

ภาพที่ 4.15 การแต่งกายที่สุภาพเหมาะกับการไปทำงานสำนักงาน

1.2 การแต่งกายแบบลำลอง เป็นการแต่งกายในวันที่ไม่ได้ไปทำงาน ซึ่งเป็นวันหยุดพักผ่อน อาจไปเดินห้างสรรพสินค้า หรือพาครอบครัวไปเที่ยว ควรเลือกเสื้อผ้าที่ดูสบาย ๆ เช่น กางเกงยีนกับเสื้อยืด แต่ต้องเลือกให้มีความพอดีเหมาะกับบุคลิกตนเอง

    1.3 การแต่งกายขณะที่เริ่มทำงาน หากต้องแต่งเครื่องแบบควรจะรักษาความสะอาดของเสื้อผ้านั้น ถ้าต้องผูกเน็กไท ให้เลือกเน็กไทที่มีคุณภาพดี 3-4 เส้น และค่อยซื้อเพิ่มภายหลัง กางเกงที่เริ่มซื้อจะต้องเป็นสีมาตรฐาน ได้แก่ สีดำ สีกรมท่า และสีเทา เสื้อควรเป็นสีขาวมากกว่าสีอื่น เข็มขัดเริ่มต้นจากสีดำก่อนแล้วต่อไปค่อยหาสีน้ำตาลมาเพิ่ม รองเท้าหนังสีดำ 2 คู่ ถุงเท้าสีดำ 5 คู่ ถ้าตำแหน่งก้าวหน้าขึ้นอาจเลือกซื้อสูทสีกรมท่าสักตัวเพื่อใช้ใส่ไปงานต่าง ๆ

2. การแต่งกายเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของร่างกาย

    2.1. รูปร่างอ้วน เตี้ย มีพุง ควรเลือกเสื้อทีเชิ้ต หรือเสื้อเชิ้ตที่ตัวใหญ่กับกางเกงยีนสีเข้ม อาจเลือกลายทางตรง จะทำให้ดูผอมลง อย่าใส่กางเกงเอวต่ำ ขากว้างหรือขาบาน เพราะจะทำให้เห็นหน้าท้องชัดขึ้น

    2.2. ก้นงอน ควรเลือกใส่กางเกงสแล็กให้หลวมช่วงสะโพกและก้น เนื้อผ้านิ่ม มีน้ำหนักสีเข้ม จะทำให้ไม่เน้นบริเวณก้นมากเกินไป

    2.3. รูปร่างผอม ไม่มีก้น ควรเลือกเสื้อที่มีความหนา พองฟู กับกางเกงยีนหรือกางเกงสแล็ก ผ้าหนา และควรเลือกใส่เสื้อเชิ้ตสีอ่อน เพื่อให้ดูรูปร่างอ้วนขึ้นเล็กน้อย

3. การเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะกับสีผิว

    3.1 ผิวคล้ำ เสื้อผ้าที่เหมาะกับผู้ชายผิวคล้ำ ได้แก่ สีเขียว สีกากี สีฟ้าอ่อน สีเทา สีชมพู หากเลือกสีกลาง ๆ จะช่วยทำให้ดูภูมิฐาน หรือเลือกสีอ่อนจะช่วยเพิ่มความอ่อนโยน และเสริมบุคลิกให้ดูดีขึ้น หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีดำ สีน้ำตาลเข้ม หรือเสื้อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด ร้อนแรง

    3.2 ผิวสองสี จัดเป็นผู้ชายที่โชคดีสามารถใส่เสื้อผ้าสีอะไรก็ได้ สีที่เหมาะสม ได้แก่ สีดำ สีม่วงเข้ม สีกรมท่า สีน้ำตาลอ่อน สีชมพู (มีลวดลาย) และสีที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ สีเขียวใบไม้ มีม่วงอ่อน สีน้ำตาลเข้ม สีแดง สีมะกอก เพราะสีเหล่านี้จะใกล้เคียงกับสีผิว

    3.3 ผิวขาวซีด เหมาะกับเสื้อผ้าสีฟ้าอ่อน สีฟ้าเข้ม สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาล สีขาว (มีลวดลาย) สีดังกล่าวช่วยทำให้มีชีวิตชีวา น่ามอง สีที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ สีชมพู สีส้ม สีแดง สีม่วง เพราะจะดึงความสนใจออกไป

4. การแต่งกาย 
    โดยทั่วไปการแต่งกายของผู้ชาย ประกอบด้วย เสื้อเชิ้ต กางเกง เน็กไท รองเท้าและถุงเท้า มีรายละเอียด ดังนี้

    4.1 เสื้อเชิ้ต ควรเลือกที่มีขนาดพอดีตัว สีเรียบ เข้ากับเสื้อนอก ที่สำคัญจะต้องสะอาด โดยเฉพาะช่วงคอเสื้อ ปก และหน้าอก เป็นส่วนที่ต้องโชว์ จึงต้องรีดให้เรียบเป็นพิเศษ

4.16 ภาพเสื้อเชิ้ตที่เหมาะสมสุภาพบุรุษ


    4.2 กางเกง ควรใช้ผ้าเรียบ ๆ หากเป็นผ้าลายควรเป็นลายเล็ก ๆ ตัดทางตรง แบบของกางเกงเป็นแบบมาตรฐานไม่พับปลายขา หลีกเลี่ยงกางเกงเอวต่ำ เพราะจะทำให้ดูขาสั้นกว่าความเป็นจริง และ ไม่ควรใส่ของจนเต็มกระเป๋า เพราะจะทำให้ตัวกว้างและเตี้ย ควรเลือกกางเกงที่มีขากางเกงปิดรองเท้าพอสมควร ปิดคลุมถุงเท้าพอดี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นกางเกงเอวสูงเกินไป

    4.3 เน็กไท ควรเลือกเน็กไทที่มีลายหรือสีเหมาะสม เรียบ ๆ เข้ากับสูท ขนาดพอเหมาะ หลีกเลี่ยงเน็กไทสีฉูดฉาด ต้องเป็นเน็กไทแบบผูก อย่าใช้แบบเกี่ยวกับคอเสื้อ กลัดกระดุมบนเสื้อเชิ้ต ทุกครั้งที่ใส่เน็กไท ดึงเน็กไทให้ตึง และไม่ควรใช้เสื้อยืดที่มีคอเชิ้ตผูกเน็กไท

ภาพที่ 4.17 การแต่งกายของสุภาพบุรุษทำงานยุคปัจจุบัน

    4.4 คนรุ่นใหม่มักนิยมใส่เสื้อเชิ้ต ผูกเน็กไท ใส่สูทตามแบบสากลนิยมแบบตะวันตก ซึ่งสูทที่สุภาพบุรุษใส่มีหลายแบบ ดังนี้

    4.4.1 Basic Suit เป็นเสื้อสูทที่เป็นชุดเดียวกับกางเกง ซึ่งอาจจะเป็นแบบกระดุมแถวเดียวหรือแบบกระดุมสองแถว ซึ่งสูทแบบกระดุมสองแถวนี้ไม่เหมาะกับคนเตี้ยหรือคนอ้วน ส่วนคนที่รูปร่างดีจะใส่แบบใดก็ได้ การใส่ Basic Suit มักจะใส่เป็นชุดเดียวกัน ไม่นิยมใส่แยกชุด คือนำกางเกงของชุดหนึ่งไปใส่กับเสื้ออีกชุดหนึ่ง หากไปงานกลางคืนควรเลือกสูทสีเข้ม เช่น สีกรมท่า สีน้ำเงินเข้ม สีดำ หากเป็นงานกลางวันอาจเป็นสูทสีอ่อน เช่น สีน้ำตาล สีฟ้า หรือสีเทาก็ได้

    4.4.2 Sport Suit คือเสื้อสูทที่ตัดแบบสปอร์ต อาจเป็นผ้าที่มีลายในตัว ใส่กับกางเกงต่างสีก็ได้ เหมาะสำหรับใส่ลำลองไม่เป็นทางการ อาจใส่กับเสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล หรือเสื้อสปอร์ตอื่น ๆ ซึ่ง ผูกเน็กไทหรือไม่ผูกก็ได้

    4.4.3 Blazer Suit เป็นสูทที่มีความเป็นทางการมากกว่า Sport Suit แต่น้อยกว่า Basic Suit สูทประเภทนี้จะมีสีใดก็ได้ ตัดได้ทั้งกระดุมแถวเดียวและสองแถว มีกระเป๋าปะบนเสื้อทั้งบนและล่าง 2 ข้าง กระดุมเป็นโลหะ ตัว Blazer นั้นส่วนมากเป็นสีน้ำเงินเข้ม ใส่กับกางเกงได้หลายสี ไม่ว่าจะเป็น สีเทา สีนวล หรือสีน้ำตาล เหมาะกับงานส่วนตัวหรืองานเลี้ยงแบบไม่เป็นทางการ

    4.4.4 Tuxedo, Black Tie, Dinner Suit เป็นเสื้อนอกที่มีสีดำ สีเข้ม หรือสีขาวขลิบด้วยผ้าซาตินดำหรือขาว มีโบไทดำ มีผ้าคาดเอวดำ เสื้อเชิ้ตข้างในตกแต่งด้วยผ้าระบายหรือผ้าลูกไม้เหมาะกับงานหรูหรา ในเมืองไทยเรานั้นบางครั้งอาจนำมาเป็นชุดเจ้าบ่าวใส่คู่กับเจ้าสาวที่ใส่ชุดราตรียาว

    4.5 รองเท้าและถุงเท้า การเลือกรองเท้าควรคำนึงถึงความสบายในการสวมใส่ เข้ากับสูทที่ใส่ โดยทั่วไปรองเท้ามี 3 ชนิด ได้แก่

    4.5.1 รองเท้าแบบหัวตัด เหมาะกับสูทแบบปกมีหยัก เพราะมีลักษณะเป็นเหลี่ยมเหมือนกับปกคอเสื้อ และเหมาะกับสูทสีเข้ม

    4.5.2 รองเท้าหัวมน เป็นรองเท้าสากลที่สวยงาม สุภาพ เหมาะกับสูทแบบปก ไม่มีหยัก แต่ก็สามารถเข้ากับได้กับแบบปกหยัก ที่ต้องการความเรียบง่าย เหมาะกับสูทสีดำ สีขาว หรือสีครีม

    4.5.3 รองเท้าหัวแหลม เป็นรองเท้าสากลที่สง่างาม เหมาะกับสูทปกแหลม สีดำ สีขาว หรือสีกากี
    4.5.4 ถุงเท้า ควรเลือกใส่ถุงเท้าที่เข้ากัน หรือใกล้เคียงกันกับสีของรองเท้าหรือกางเกงด้วย และควรขัดรองเท้าให้ขึ้นเงาเสมอ

ภาพที่ 4.18 รองเท้าของสุภาพบุรุษ

5. เครื่องประดับ 

    5.1 เข็มกลัด สำหรับสุภาพบุรุษมักจะเป็นการใช้เข็มกลัดเน็กไท เพราะเข็มกลัดจะช่วยบังคับเน็กไทให้ตรงและไม่แกว่งไปมาขณะเคลื่อนไหวร่างกาย ระดับของเข็มกลัดคือช่วงกลางของ เน็กไท

    5.2 เข็มขัด การเลือกขนาดของเข็มขัดขึ้นอยู่กับความหนาใหญ่ของเอว เช่นเดียวกับสุภาพสตรี แต่สำหรับสุภาพบุรุษควรเลือกสีของเข็มขัดให้กลมกลืนกับสีของกางเกงและรองเท้า

    5.3 สร้อยคอ ไม่ควรสวมสร้อยคอให้ออกมาอยู่นอกตัวเสื้อ ไม่ว่าจะสวมแบบใดก็ตาม และ ไม่ควรสวมสร้อยคอทีเดียวหลาย ๆ เส้น หลาย ๆ ขนาด เพราะจะทำให้เสียบุคลิกภาพได้

    5.4 แหวน ควรเลือกให้เหมาะสม ดังนี้

    5.5.1 นิ้วสั้นทู่ ไม่เรียวงามและเล็บเล็กรูปสี่เหลี่ยม ควรใช้แหวนแถว หรือแหวนเหลี่ยมวงบาง ๆ อย่าเลือกแหวนที่มีลักษณะหัวกลมใหญ่

    5.5.2 นิ้วสั้น แต่มีความเรียวงามและเล็บสวย ควรสวมแหวนหัวไข่รี ๆ เพรียว ๆ ตัวเรือนบาง ๆ แต่จะต้องไม่แคบกว่าความกว้างของนิ้วจะช่วยให้นิ้วดูเรียวยาวขึ้น

    5.5.3 นิ้วยาวแต่เล็กเกินไป และเล็บสั้น ควรใช้แหวนแถวลักษณะเป็นแถบ ๆ แบบรัสเซีย

    5.5.4 นิ้วยาว แต่ผอมมาก ๆ ไม่อวบสวย ควรสวมแหวนตัวเรือนหนา และมีหัวแหวนกลมๆ หรือ หัวแหวนรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ จะช่วยเพิ่มความอวบอูมสมส่วนมากขึ้น

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การแต่งกายของสุภาพบุรุษยังต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นสำคัญ ได้แก่ ต้องตัดเล็บมือ เล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ รักษาผมให้เรียบร้อย อย่าปล่อยให้มีรังแคอยู่บนเสื้อที่ใส่ โกนหนวดเคราให้เรียบร้อย เสื้อที่ใส่จะต้องรีด ไม่ปล่อยให้มีรอยยับ สูทก็จะต้องรีดให้เรียบเสมอ อย่าใส่ซ้ำซากโดยไม่ส่งซัก

การแต่งกายตามพระราชนิยม

    เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เมื่อพุทธศักราช 2503 ได้พระราชทานพระราชดำริว่า สมควรที่จะสรรค์สร้างการแต่งกายชุดไทยให้เป็นไปตามประเพณีที่ดีงาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสมัยต่าง ๆ จาก พระฉายาลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายใน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ แต่ให้มีการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย ทรงเสนอรูปแบบที่หลากหลาย และได้ฉลองพระองค์เป็นแบบอย่าง ทั้งได้พระราชทานให้ผู้ใกล้ชิดแต่งและเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ชุดไทย พระราชนิยม" มี 8 ชุด ซึ่งชุดไทยพระราชนิยม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้ในโอกาส และสถานที่ต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและชื่นชมกันทั่วไป ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศทั่วโลก ชุดไทยพระราชนิยมมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. ไทยเรือนต้น  ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมมีลายริ้วตามขวางหรือตามแนวยาวหรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงซิ่นยาวจรดข้อเท้า ป้ายหน้า เสื้อใช้ผ้าสีตามริ้วซิ่นหรือเชิงซิ่น จะตัดกับซิ่นหรือสีเดียวกันก็ได้ เสื้อคนละท่อนกับซิ่น แขนสามส่วน กว้างพอสบาย ผ่าอก กระดุม 5 เม็ด คอกลมตื้นไม่มีขอบตั้งที่คอ เครื่องประดับตามสมควร ใช้ในโอกาสปกติ (เป็นชุดไทยแบบลำลอง) และต้องการความสบาย เช่น งานกฐิน เที่ยวเรือ งานทำบุญวันสำคัญทางศาสนา ข้อสำคัญต้องเลือกผ้าที่ใช้ตัดให้เหมาะกับเวลาและสถานที่
ภาพที่ 4.19 ชุดไทยเรือนต้น

2. ไทยจิตรลดา  ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิงหรือผ้าทอยกดอกทั้งตัวก็ได้ ตัดเป็นซิ่นยาว ป้ายหน้าเสื้อคนละท่อนกับซิ่น คอกลมมีขอบตั้งน้อย ๆ ผ่าอก แขนยาว ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานพระราชพิธีต่าง ๆ หรืองานที่ผู้ชายแต่งเต็มยศ เช่น รับประมุขของประเทศอื่น ที่มาเยือนเป็นทางการที่ไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เนื้อผ้าควรงดงามมาก น้อยเหมาะสมกับโอกาสที่สวมใส่
ภาพที่ 4.20 ชุดไทยจิตรลดา

3. ไทยอัมรินทร์  แบบเหมือนไทยจิตรลดา ต่างกันที่ใช้ผ้าและเครื่องประดับหรูหรากว่าไทยจิตรลดา เพราะเป็นชุดพิธีตอนค่ำ ใช้ผ้ายกไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว เสื้อคนละท่อนกับซิ่น ไม่มีเข็ดขัด ผู้มีอายุจะใช้คอกว้าง ๆ ไม่มีขอบตั้ง แขนสามส่วนก็ได้ เพราะความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าและเครื่องประดับที่จะใช้ให้เหมาะสมกับงานเลี้ยงรับรอง รับเสด็จ ไปดูละครตอนค่ำ และเฉพาะในงาน พระราชพิธีสวนสนาม ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้เครื่องแต่งกายเต็มยศหรือครึ่งยศ เช่น ในงานพระราชพิธี หรืองานสโมสรสันนิบาต
ภาพที่ 4.21 ชุดไทยอัมรินทร์

4. ไทยบรมพิมาน  คือชุดไทยพิธีตอนค่ำ ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทองมีเชิง หรือยกทองทั้งตัวก็ได้ ตัดติดกันกับตัวเสื้อ ซิ่นจีบหน้ามีชายพก ยาวจรดข้อเท้า ใช้เข็มขัดไทยคาด เสื้อคอกลม ปกตั้งผ่าด้านหลังหรือด้านหน้าก็ได้ แขนยาว ใช้เครื่องประดับงดงามพอสมควร เหมาะสมสำหรับงานพิธีเต็มยศและครึ่งยศ เช่น งานอุทยานสโมสร งานพระราชทานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการ หรือเป็นชุดเจ้าสาว
ภาพที่ 4.22 ชุดไทยบรมพิมาน

5. ไทยจักรี  หรือชุดไทยสไบ นุ่งผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ยกจีบข้างหน้า มีชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาดท่อนเป็นสไบ จะเย็บติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกันหรือจะมีสไบห่มต่างหากก็ได้ เปิดข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลังยาวตามที่เห็นสมควร ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้า การเย็บและรูปทรงของ ผู้สวม ใช้เครื่องประดับให้งดงามตามโอกาสเวลากลางคืน ชุดนี้ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศสำหรับอากาศที่ไม่เย็น

ภาพที่ 4.23 ชุดไทยจักรี

6. ไทยจักรพรรดิ  ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง จีบหน้ามีชายพก เอวจีบ ใช้เข็มขัดไทยคาด ห่มแพรจีบแบบไทย สีตัดกับผ้านุ่งเป็นชั้นที่หนึ่งก่อน แล้วจึงใช้สไบปักอย่างสตรีบรรดาศักดิ์สมัยโบราณห่มทับแพรจีบอีกชั้นหนึ่ง (มีสร้อยตัวด้วย) ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ เช่นเดียวกับชุดไทยจักรี

ภาพที่ 4.24 ชุดไทยจักรพรรดิ

7. ไทยดุสิต  ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง จีบหน้า มีชายพก จีบเอว ใช้เข็มขัดไทยคาด เช่นเดียวกับไทยจักรพรรดิ ต่างที่ตัวเสื้อ คือใช้เสื้อคอกว้าง (คอด้านหน้าและหลังคว้านต่ำเล็กน้อย) ไม่มีแขน เป็นเสื้อผ่าหลัง และปักลวดลายด้วยไข่มุก ลูกปัดหรือเลื่อม ใช้ในงานพระราชพิธีที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ บาครั้งเรียกการแต่งกายชุดนี้ว่าชุดไทยสุโขทัยภาพที่ 4.25 ชุดไทยดุสิต

ภาพที่ 4.25 ชุดไทยดุสิต


8. ไทยศิวาลัย  ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง มีชายพก ตัวเสื้อใช้ผ้าสีทองเหมือนสีเนื้อ แขนยาว คอกลม มีขอบตั้ง ผ่าหลัง เย็บติดกับผ้าซิ่น คล้ายแบบไทยบรมพิมาน แต่ห่มผ้าปักลายไทยแบบไทยจักรพรรดิ โดยไม่ต้องมีแพรจีบรองพื้นก่อน ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ
ภาพที่ 4.26 ชุดไทยศิวาลัย

9. ไทยประยุกต์  เป็นชุดที่ดัดแปลงมาจากชุดไทยจักรี นิยมใส่กันมาก ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัวซิ่นจีบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัดไทย ท่อนบนเป็นเสื้อคอกลม คอกว้าง หรือคอแหลม ไม่มีแขนเหมือนกับเสื้อปกติ ตัวเสื้อนิยมปักเลื่อม ลูกปัด ตกแต่งให้สวยงามตามใจชอบ ใช้ในงานราตรีสโมสรหรือสำหรับเจ้าสาวสวมตอนเลี้ยงกลางคืนก็ได้
ภาพที่ 4.27 ชุดไทยประยุกต์

การแต่งกายในโอกาสต่าง ๆ

    ในชีวิตประจำวันมนุษย์จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป บางคนอยู่แต่ในบ้านไม่ค่อยได้พบผู้คนจึงอาจไม่ต้องพิถีพิถันเรื่องเครื่องแต่งกายมากนัก ในขณะที่บางคนต้องออกไปทำงาน นอกบ้าน ก็จะต้องมีการพิจารณาเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสถานที่ทำงานของตนและเหมาะกับลักษณะงาน ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ชุดทำงาน ผู้ที่ออกไปทำงานนอกบ้านสามารถแบ่งสถานที่ทำงานได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทำงานในสถานที่ราชการหรือเรียกว่า ข้าราชการ และทำงานในบริษัทเอกชน หรือที่เราเรียกว่า ทำงานออฟฟิศ การแต่งกายของข้าราชการจะต้องเน้นไปที่ความสุภาพ เรียบร้อย กระโปรงไม่สั้นมาก และ คอเสื้อก็จะต้องไม่ลึกจนเกินไป ลายเสื้อไม่ต้องฉูดฉาดจนทำให้คนต้องมองเหลียวหลัง ทั้งนี้ควรเลือก แต่งกายให้เข้ากับบุคลิกภาพของตนจะเหมาะสมกว่า ส่วนข้าราชการที่มีเครื่องแบบแน่นอนที่ใช้บังคับ เช่น ทหาร ตำรวจ พยาบาล จะไม่สามารถเลือกแบบและสีสันของเครื่องแต่งกายได้ ส่วนสาวออฟฟิศจะเลือกแต่งกายได้อย่างอิสระกว่าข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันสาวออฟฟิศสามารถสวมกางเกงไปทำงาน บางแห่งอนุญาตให้เป็นกางเกงยีนก็ได้ สาวออฟฟิศจึงต้องพิจารณาเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อเสริมให้ตนเองนั้นดูดีขึ้น และที่สำคัญต้องอำพรางสิ่งที่บกพร่องของร่างกายได้เป็นอย่างดี ชุดกลางวันธรรมดา เป็นชุดที่ใส่สำหรับการออกไปเดินซื้อของ การออกไปพบปะเพื่อนฝูง เช่นนี้สามารถเลือกสวมใส่ได้อย่างอิสระ และเหมาะสมกับตนเอง หากไปติดต่อสถานที่ราชการอาจเลือกชุดที่เรียบร้อยกว่า

ชุดสำหรับงานเลี้ยง งานกลางคืน ควรเลือกชุดที่เป็นผ้านิ่ม ๆ ซึ่งจะช่วยให้การเคลื่อนไหวสวยงามขึ้น สีที่เลือกควรเป็นสีที่สดใส ชุดสำหรับงานเลี้ยงหรืองานกลางคืนไม่เหมาะที่จะเป็นผ้าแข็งกระด้าง เพราะดูไม่เหมาะสมกับบุคลิกของคนไทย นอกจากบางคนเท่านั้น ชุดกลางคืนสามารถสร้างความเก๋ไก๋ได้ด้วยสิ่งประกอบ คือ ผ้าพันคอ ผ้าพันเอว เข็มขัด หรือเครื่องประดับ ประเภทสร้อยคอ เข็มกลัด เท่าที่โอกาสอำนวย


สรุปสาระสำคัญ

    ความสำคัญของการแต่งกายมีด้วยกันหลายประการ เช่น เพื่อป้องกันอันตราย เห็นได้จากการ ใส่เสื้อผ้าเพื่อป้องกันความหนาว การใส่เสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันแสงแดด หรือแต่งกายเพื่อดึงดูด
ความสนใจและความสวยงาม แต่งกายเพื่อแสดงฐานะทางสังคม เช่น เครื่องแบบนักศึกษา ข้าราชตำรวจ หรือการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับราคาแพงก็สามารถบ่งบอกถึงฐานะทางสังคมได้เช่นกัน
นอกจากนี้การแต่งกายยังบ่งบอกถึงขนบธรรมเนียมและความสุภาพ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็มีลักษณะ
แบบแผนของตนเอง อย่างเช่นธรรมเนียมตะวันตกถ้าเป็นงานพิธีการจะต้องแต่งกายครบเครื่อง
สวมถุงน่อง รองเท้า หมวก ถุงมือ แต่ถ้าเป็นธรรมเนียมไทยจะไม่สวมหมวก
การแต่งกายเป็นมารยาททั่ว ๆ ไปซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนกันตามแต่โอกาสที่เหมาะสม เช่น แต่งกายไปทำงาน ไปวัด ทำบุญ ไปเล่นกีฬา และงานพิธีต่าง ๆ หรือการแต่งกายที่อยู่ในเครื่องแบบของนักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ บริษัทห้างร้านที่กำหนดให้พนักงานแต่งกาย เป็นต้น หากบุคคลใดสามารถปฏิบัติได้ตามกฎระเบียบที่กำหนดถือว่าเป็นผู้มีมารยาทในการแต่งกายที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น