บทที่ 5


บทที่ 5 การปฏิบัติตนด้านสุขอนามัย


แนวคิดสำคัญ (Main Idea)


    ผู้ที่มีสุขภาพดีเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสุข ปราศจากโรค สุขภาพเป็นสมบัติประจำตัวของมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ซึ่งหมายถึง ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าบุคคลที่ไม่มีโรคประจำตัวย่อมเป็นลาภอันยิ่งใหญ่ เพราะคนเรานั้นถึงแม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายแต่ถ้าเป็นโรคก็ไม่มีความสุข

    ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าการที่คนเรามีสุขภาพดีทั้งทางกายและทางจิตใจนั้น ย่อมทำให้เราเป็นบุคคลหรือประชาชนที่เป็นทรัพยากรมีค่ายิ่งของสังคม ผู้ที่มีสุขภาพดีจะสามารถปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว มีบุคลิกภาพที่ดี สุขภาพแข็งแรงเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไป มีความสามารถในการดูแลตนเองและครอบครัว ตลอดจนมีความสามารถที่จะให้ความร่วมมือกับบุคคลอื่น ๆ ในการสร้างสังคม ถ้าประชาชนของชาติมีสุขภาพที่ดี ก็เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติด้วย


หัวข้อเรื่อง (Topics)

1. ความหมายของสุขภาพ
2. ความสำคัญของสุขภาพ
3. ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่ดี
4. การปรับปรุงสุขภาพเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
5. การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
6. หลักในการออกกำลังกาย
7. ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
8. ประเภทของการออกกำลังกาย
9. การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
10. สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
11. อาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
12. การพักผ่อนและการนอนหลับ

สมรรถนะย่อย (Element of Competency)

1. แสดงความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนด้านสุขภาพอนามัย
2. ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนด้านสุขภาพอนามัย


จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)

1. อธิบายความหมายของสุขภาพได้
2. อธิบายความสำคัญของสุขภาพได้
3. อธิบายลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่ดีได้
4. อธิบายการปรับปรุงสุขภาพเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพได้
5. อธิบายการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพได้
6. บอกหลักในการออกกำลังกายได้
7. อธิบายประโยชน์ของการออกกำลังกายได้
8. บอกประเภทของการออกกำลังกายได้
9. อธิบายการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพได้
10. บอกสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้
11. บอกอาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันได้
12. อธิบายการพักผ่อนและการนอนหลับได้

ความหมายของสุขภาพ


    สุขภาพที่ดีย่อมส่งผลให้มีบุคลิกภาพทางกายดีด้วย มนุษย์จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ เพราะเป็นการสร้างให้บุคลิกภาพทางกายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นักวิชาการได้ให้ความหมายของสุขภาพไว้ดังนี้
ดำรงศักดิ์ ชัยสนิท และสุนี เลิศแสวงกิจ (2542:92) ให้ความหมายว่า สุขภาพ หมายถึงประสิทธิภาพของร่างกายและจิตใจที่ทำงานและมีชีวิตในสังคมได้ด้วยความพึงพอใจ
ผุสดี พฤกษะวัน (2547:36) ให้ความหมายว่า สุขภาพหมายถึงสภาวะความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือความพิการ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ดีด้วยความพอใจ
องค์การอนามัยโลก (The world health organization)ได้ให้ความหมายของสุขภาพไว้ว่า สุขภาพคือ สภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และสภาพความเป็นอยู่ทางสังคม ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การไม่มีโรคหรือไม่ทุพพลภาพเท่านั้น
ดังนั้นสรุปได้ว่าสุขภาพ หมายถึง สภาพของร่างกายที่มีการเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ร่างกายสะอาด แข็งแรง สมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ทุพพลภาพ พร้อมทั้งมีภูมิคุ้มกันโรคหรือมีความต้านทานโรคเป็นอย่างดี
วิธีการดูแลสุขภาพ

ความสำคัญของสุขภาพ


    สุขภาพมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างยิ่ง บุคคลที่มีสุขภาพดีก็สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ต่อตนเอง และผู้อื่น เพราะบุคคลที่มีสุขภาพดี ย่อมมีอารมณ์ ความคิด จิตใจดีงามตามไปด้วย เนื่องจากไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมารบกวน คนเราจะมีสุขภาพดีได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน เช่น การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายเพื่อให้อาหารที่รับประทานเข้าไปทำการย่อยสลายเพื่อไปบำรุงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้แข็งแรง การรับประทานอาหารที่พอเหมาะจะทำให้ไม่มีส่วนเกิน มีการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด ความเหนื่อยล้าจากการทำงานเป็นการเติมเต็มความสดชื่นให้กับร่างกาย และพร้อมที่จะทำหน้าที่การงานต่อไป
สุขภาพ ในปัจจุบันมีองค์ประกอบ 4 ส่วน ด้วยกัน คือ

1. สุขภาพกาย (Physical health) หมายถึง สภาพที่ดีของร่างกาย กล่าวคือ อวัยวะต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่ดี มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ทำงานได้ตามปกติ และมีความสัมพันธ์กับทุกส่วนเป็นอย่างดี และก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน

2. สุขภาพจิต (Mental health) หมายถึง สภาพของจิตใจที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีจิตใจ เบิกบานแจ่มใส มิให้เกิดความคับข้องใจหรือขัดแย้งในจิตใจ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข

3. สุขภาพสังคม หมายถึง สภาวะที่ดีของปัญญาที่มีความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตใจ อันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

4. สุขภาพศีลธรรม หมายถึง บุคคลที่มีสภาวะทางกายและจิตใจที่สุขสมบูรณ์ สามารถปฏิสัมพันธ์และปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดีและมีความสุข
การดูแลสุขภาพด้วยวิธีการต่าง ๆ

ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่ดี


    สุขภาพร่างกายที่ดี หมายถึง ผู้ที่มีร่างกายเจริญเติบโต มีพัฒนาการอย่างเหมาะสม ทั้งร่างกายและจิตใจ ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอและถูกสัดส่วน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและไม่บกพร่องพิการทางกาย ควรมีลักษณะดังนี้

1. แข็งแรง ทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคมได้สะดวก เข้ากับผู้อื่นได้และเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นด้วย

2. มีหน้าตายิ้มแย้ม แจ่มใส ผิวพรรณมีน้ำมีนวล กิริยาท่าทางสนุกสนาน รื่นเริง เป็นที่น่าคบหาสมาคมของบุคคลทั่วไป

3. ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสง่างาม เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น เช่น มีผิวพรรณสะอาด ผมเป็นเงางาม เป็นต้น

ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพดี

การปรับปรุงสุขภาพเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ


    บุคลิกภาพที่ดีของบุคคลเกิดขึ้นจากการที่มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจที่แข็งแรง การดูแลสุขภาพจิตให้ดีจะส่งผลให้สุขภาพกายดี และการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดี แน่นอนย่อมส่งผลให้เกิดบุคลิกภาพที่ดี ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง มีร่างกายที่สง่าผ่าเผย อกผายไหล่ผึ่ง ลักษณะท่าทางดี การปรับปรุงสุขภาพเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ มีวิธีปฏิบัติดังนี้

1. การดูแลบำรุงรักษาสุขภาพกาย
1.1 กินอาหารให้ถูกต้อง ถูกหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และดื่มน้ำให้เพียงพอ
1.2 ตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
1.3 ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมไม่อ้วน หรือผอมเกินไป
1.4 ออกกำลังกาย เล่นกีฬาเป็นประจำและต่อเนื่องตลอดชีวิต
1.5 พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยหลับสนิทคืนละ 6 ชั่วโมง
1.6 ดูสุขภาพกายโดยทั่วไป ไม่ให้เจ็บป่วย
1.7 หากมีโรคประจำตัวต้องปรึกษาแพทย์
2. การดูแลสุขภาพด้านอารมณ์
2.1 มองโลกในแง่ดีเสมอ
2.2 ปรับตัวเข้ากับสังคม และสิ่งแวดล้อมได้ดี
2.3 รู้จักตนเอง และเข้าใจบุคคลอื่นได้ดี
2.4 มีความกระตือรือร้น ไม่เหนื่อยหน่าย หรือท้อแท้ใจ หรือหมดหวังในชีวิต
2.5 มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว และครอบครัว
2.6 มีความยืดหยุ่น ไม่เถรตรง ไม่แข็งกร้าวหรือไม่โลเลจนเกินไป
2.7 มีอารมณ์มั่นคง ควบคุมอารมณ์ให้มั่นคง
2.8 ฝึกการผจญกับความเครียด จนสามารถผ่อนหนักเป็นเบา
2.9 สร้างความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และยอมรับผู้อื่น
2.10 สร้างอารมณ์ขัน ฝึกยิ้มสู้เสมอ เมื่อเจอเหตุการณ์วิกฤตหรือคับขัน
3. การดูแลสุขภาพในด้านการเข้าสังคม
3.1 รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิดโดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว
3.2 เตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ในการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานและชุมชน
3.3 พยายามเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว
3.4 มีเพื่อนสนิทและเพื่อนที่รู้ใจ
3.5 เปิดใจคบเพื่อนใหม่เสมอ
3.6 สร้างค่านิยมที่สังคมยอมรับ
3.7 รู้จักพัฒนาบุคลิกภาพเมื่อต้องปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มคนประเภทต่าง ๆ
3.8 มีอารมณ์ขัน ฝึกยิ้มเสมอ เมื่อเจอเหตุการณ์วิกฤติ
3.9 อาสาสมัครช่วยพัฒนาชุมชนหรือกลุ่มที่ตนเองเป็นสมาชิก
3.10 มีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมของสังคมและชุมชน


การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ


    การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ โดยธรรมชาติร่างกายและอวัยวะจำเป็นต้องใช้งานจึงจะแข็งแรงและเจริญเติบโต การออกกำลังกายนับว่ามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง การออกกำลังกายที่ปฏิบัติกันมา ได้แก่ การเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การทำงานของร่างกาย แล้วให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ซึ่งช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต กิจกรรม การออกกำลังกายที่นิยมกัน ได้แก่

1. การแข่งขันกีฬา กีฬาสามารถนำมาเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้ แต่กีฬาประเภทนั้น ต้องมีลักษณะที่ให้ประโยชน์ในด้านการหายใจ และการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย จึงจะสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางกายได้

2. เกมและการละเล่นที่ต้องใช้แรงกาย เกมการละเล่นหลายชนิดสามารถนำมาจัดให้เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้ เกมละเล่นพื้นบ้านที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินและได้ออกแรงกาย ได้แก่ วิ่งเปรี้ยว ตี่จับ ลิงชิงบอล ตะกร้อลอดห่วง เป็นต้น

3. การบริหารร่างกาย มีผลต่อระบบเคลื่อนไหวของร่างกาย ได้แก่ โยคะ รำมวยจีน การ ออกกำลังกายทั่วไป การฝึกฝนร่างกายด้วยตนเอง หรือการไปออกกำลังกายตามสถานบริหารร่างกาย เช่น การวิ่งเหยาะ การกระโดดเชือก ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค เป็นต้น

4. งานอาชีพและงานอดิเรกที่ใช้แรงกาย งานอาชีพบางอย่างที่ได้ใช้แรงกายให้เหมาะสมก็จัดเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้

การเล่นโยคะเพื่อบริหารร่างกาย

หลักในการออกกำลังกาย


การออกกำลังกายเพื่อให้ได้ผลดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ควรปฏิบัติดังนี้

1. การประมาณตน การออกกำลังกายควรคำนึงถึงอายุ เพศ ควรออกกำลังกายด้วยวิธีที่เหมาะสมกับร่างกาย วัย เพราะวิธีการออกกำลังกายอาจจะเหมาะสมกับบุคคลหนึ่งแต่อาจจะไม่เหมาะกับอีกบุคคลหนึ่งจึงควรพิจารณาว่าร่างกายของเราเหมาะสมกับการออกกำลังกายแบบใด
2. การแต่งกายให้เหมาะสมรัดกุม จะช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น การ ออกกำลังกายแต่ละชนิดใช้อุปกรณ์ในการออกกำลังกายไม่เหมือนกัน เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิก ดังนั้น จึงควรเลือกเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมกับการออกกำลังกายแต่ละประเภท
3. เลือกเวลา ดิน ฟ้า อากาศ ควรเลือกออกกำลังกายที่เหมาะสม และควรกำหนดเวลาของการออกกำลังกายที่แน่นอนเพราะจะมีผลต่อการปรับตัวของร่างกาย เช่น ตอนเช้า หรือตอนเย็น
4. สภาพของกระเพาะอาหาร ไม่ควรออกกำลังกายในขณะที่รับประทานอาหารอิ่ม เพราะกระเพาะอาหารอยู่ใต้กระบังลมจะทำให้ปอดไม่สามารถได้อย่างเต็มที่ ทำให้การไหลเวียนของเลือดต้องแบ่งเลือดส่วนหนึ่ง ในการย่อยและการดูดซึมอาหาร ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดลง
5. การดื่มน้ำ น้ำมีความจำเป็นมากในการออกกำลังกาย เพราะถ้าร่างกายสูญเสียน้ำไปมากอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
6. ความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยทุกชนิดทำให้สมรรถภาพของร่างกายลดลง ขณะเจ็บป่วยร่างกายต้องการพักผ่อน การออกกำลังกายอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตได้ ดังนั้นขณะที่ป่วยจึงไม่ควรออกกำลังกาย
7. ความเจ็บป่วยขณะกำลังออกกำลังกาย หากเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความรู้สึกไม่สบายในขณะออกกำลังกายควรหยุดพักผ่อน อาการที่อาจเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย เช่น อึดอัด หายใจไม่ออก จุกแน่นบริเวณหน้าอก ตะคริว อาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงควรหยุดพักทันที
8. ด้านจิตใจ ในระหว่างการออกกำลังกายต้องทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง พยายามขจัดเรื่องที่รบกวนจิตใจในระหว่างนั้นออกไป หากปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่ควรออกกำลังกาย เพราะทำให้เสียสมาธิ อาจเกิดอุบัติได้ง่าย
9. ความสม่ำเสมอ ผลเพิ่มสมรรถภาพต่าง ๆ นอกจากจะขึ้นอยู่กับปริมาณความหนักเบาของ การฝึกซ้อมและออกกำลังกายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอด้วย
10. การพักผ่อน หลังการฝึกซ้อมและออกกำลังกาย ร่างกายเสียพลังงานสำรองไปมากจำเป็นต้องมีการชดเชย รวมทั้งซ่อมแซมสิ่งที่สึกหรอและสร้างเสริมให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ขบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับการพักผ่อน


ประโยชน์ของการออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยให้ร่างกายทุกส่วนรวมทั้งระบบการหายใจ แข็งแรงสมบูรณ์ สร้างภูมิคุ้มกัน และยังทำให้กระฉับกระเฉงว่องไว สดชื่น กระปรี้ประเปร่าอีกด้วยประโยชน์ของการออกกำลังกาย มีดังนี้

1. การเจริญเติบโต การออกกำลังกายที่ถูกต้องสม่ำเสมอ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวกับ การเจริญเติบโตอย่างถูกส่วน จึงกระตุ้นให้อวัยวะต่าง ๆ เติบโตได้เต็มที่
2. ระบบการหายใจ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความจุของปอดมีปริมาณมากขึ้นเนื่องจากรับออกซิเจนไว้ได้มาก ทำให้ปอดสามารถฟอกโลหิตดำเป็นโลหิตแดงได้ดีขึ้น
3. รูปร่างและทรวดทรง ทำให้การทรงตัวดี มีความว่องไว กระฉับกระเฉงมีอิริยาบถต่าง ๆ ที่สวยงาม เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้พบเห็น
4. สุขภาพจิตดี การออกกำลังกายช่วยให้ผู้มีอาการผิดปกติทางจิต เช่น อาการซึมเศร้ามีอาการดีขึ้น
5. ชะลอความเสื่อมของอวัยวะ การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะทำให้แก่ช้า อายุยืนเพราะกระดูกจะแข็งแรง โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน กระดูกจะบางลง
6. ระบบการขับถ่ายดีขึ้น การออกกำลังกายช่วยให้การขับถ่ายทุกระบบดีขึ้น
7. การนอนหลับดีขึ้น การออกกำลังกายช่วยให้คนที่หลับยาก นอนหลับได้ดีขึ้น


อาหารที่มีประโยชน์และร่างกายควรจะได้รับในแต่ละวัน


    การที่คนเราจะมีสุขภาพดีได้นั้น ร่างกายต้องได้รับอาหารที่ดี มีประโยชน์ เพื่อการเจริญเติบโตซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การได้รับประทานอาหารที่ดีจะทำให้สุขภาพดีจากภายในการดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกาย เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ร่างกายจะต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ และต้องปฏิบัติให้ได้ทุกวัน อาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันจึงควรเลือกรับประทานอาหารต่อไปนี้

    1. เบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่ช่วยเรื่องระบบการย่อยอาหาร มีวิตามินซีสูง ซึ่งช่วยป้องกันการเป็นหวัดช่วยให้มีผิวพรรณสวยงาม นอกจากนั้นเบอร์รี่ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยให้ผิวพรรณอ่อนเยาว์ แม้ว่าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จะเคยเป็นผลไม้ที่หาทานได้ยากในบ้านเรา แต่ในสมัยนี้เบอร์รี่สามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า และตามท้องตลาดบางแห่งได้
เบอร์รี่

    2. ไข่ไก่ เป็นอาหารที่หาได้ง่ายและมีราคาถูก ไขไก่ เป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพสูง ที่ให้พลังงานแก่ร่างกายและเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็ไม่ทำให้อ้วนมีประโยชน์ในการบำรุงสายตา ปกป้องผิวจากการทำลายของแสงแดด ในแต่ละวันจึงควรได้รับประทานไข่ไก่
ไข่ไก่


    3. ถั่ว ในอาหารประเภทถั่วเป็นแหล่งของธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยในการส่งผ่านออกซิเจนจากปอดไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย โดยในถั่ว 1 ถ้วย จะให้ธาตุเหล็กประมาณ 16 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูง นอกจากนี้ ถั่วยังมีไฟเบอร์ช่วยให้ร่างกายขับถ่ายได้ง่ายอีกด้วย
ถั่วประเภทต่างๆ

    4. ส้ม เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงและมีคุณภาพมาก การรับประทานส้มในแต่ละวันจึงมีประโยชน์ต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว และช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค ส้มยังมีไฟเบอร์สูง การรับประทานส้มจึงควรรับประทานทั้งกาก เพื่อประโยชน์ในการขับถ่าย นอกจากนี้ส้มยังเป็นแหล่งของแอนตี้อ๊อกซิแดนท์ที่ช่วยปกป้องเซลล์ผิวจากการถูกทำลายได้อีกด้วย
ส้ม

    5. ผักคะน้า มีสารเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด รวมถึงมีวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อสร้างภูมิต้านทานโรคที่ดี นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมเสริมสร้างการทำงานของกระดูกอีกด้วย
ผักคะน้า

    6. โยเกิร์ต การรับประทานโยเกิร์ต หลาย ๆ คนคิดว่าเป็นเพียงอาหารว่าง แต่ในความเป็นจริงแล้วโยเกิร์ตมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสีวิตามินบี 12 และโปรตีน ดังนั้นถ้ารับประทานโยเกิร์ตให้ได้วันละ 1 ถ้วย จะทำให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
โยเกิร์ต

การพักผ่อนและการนอนหลับ


    การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด แต่ต้องเป็นการนอนหลับที่สนิท วงการแพทย์ พบว่า ขณะที่นอนหลับร่างกายทุกส่วนจะผ่อนคลาย และพักผ่อนอย่างเต็มที่จะมีการฟื้นฟูและเริ่มสะสมพลังงานใหม่ หากไม่ได้นอนหลับร่างกายจะอ่อนเพลียและหมดกำลัง หากบุคคลไม่นอนหลับไปตามเกณฑ์ของการดำเนินชีวิต จะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพ จะสังเกตเห็นว่าเมื่อมีอาการนอนไม่หลับจะรู้สึกอ่อนเพลียและเจ็บป่วย โดยเฉพาะไข้หวัดซึ่งมีสาเหตุมากเชื้อไวรัส ซึ่งลอยอยู่ในอากาศ หากร่างกายแข็งแรงไวรัสจะไม่สามารถทำอะไรได้ ผู้ที่นอนผิดเวลา ผู้ที่ชอบเที่ยว หรือทำงานตอนกลางคืน และนอนไม่หลับตอนกลางวัน ซึ่งสับเปลี่ยนเวลากับการดำเนินชีวิตปกตินาน ๆ จะทำให้การทำงานของประสาทส่วนกลางและการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ เกิดการนอนไม่หลับ ใจสั่น หลงลืม หย่อนสมรรถภาพทางเพศ และอายุไม่ยืน ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดี มีข้อปฏิบัติเพื่อให้นอนหลับสนิท ดังนี้

1. จัดสภาพของห้องนอนให้มองแล้วอยู่ในอารมณ์ที่น่านอนได้แก่ ทาสีห้องนอนที่เย็นตา สะอาดและจัดให้เป็นระเบียบ โดยเฉพาะหัวเตียงไม่ควรมีสิ่งของวางเกะกะ กีดขวางการทำความสะอาด
2. เครื่องนอนสะอาด เลือกสีตามที่ชอบ ควรเปลี่ยนทุกสัปดาห์
3. ชุดนอนควรเลือกที่สวมใส่สบาย เนื้อผ้าเนียนนุ่ม ใส่แล้วสบายตัว
4. เปิดหน้าต่างห้องนอนเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากใช้เครื่องปรับอากาศ ควรปรับอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และมีการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศเดือนละครั้ง ทั้งตัวเครื่องและคอมเพรสเซอร์
5. กลิ่นบำบัดการนอน ควรใช้น้ำมันกลิ่นลาเวนเดอร์หยดลงบนสำลีประมาณ 1-2 หยด แล้ววางไว้ใกล้เครื่องปรับอากาศ หรือวางไว้ใต้หมอน จะทำให้หลับง่ายขึ้น
6. ท่านอน ท่านอนที่ดีที่สุด คือการนอนตะแคงขวา เพราะทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายได้ผ่อนคลาย หายใจสะดวก อาหารในกระเพาะจะถูกส่งไปยังลำไส้เล็กส่วนบนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากช่วงต่อจากกระเพาะในลำไส้เล็กหันไปทางขวา ถ้าหากในกระเพาะมีอาหารที่ยังย่อยไม่หมด การนอนตะแคงขวาช่วยการย่อยอาหารได้ ทำให้กระเพาะอาหารพักผ่อนได้ดี แต่ทางที่ดีควรเปลี่ยนท่านอนบ้างเพื่อให้เลือดหมุนเวียนได้สะดวก
7. อ่านหนังสือก่อนนอน หากต้องการอ่านหนังสือก่อนนอน ควรเลือกเรื่องที่เบา ๆ อ่านแล้วสบายใจไม่ควรเป็นเรื่องสืบสวน สอบสวน หรือฆาตกรรม เพราะจะทำให้จิตเก็บไปฝันได้
8. สวดมนต์ก่อนนอน ควรสวดมนต์ก่อนนอนเพื่อฝึกจิตใจให้มีสมาธิ ถ้าจะให้ดีหลังจาก สวดมนต์ควรสำรวมจิตให้สงบสัก 10 นาที เพื่อฟอกจิตให้สะอาดขึ้น
9. บริหารร่างกายก่อนนอน เพื่อให้หลับสนิท อาจใช้ท่านอนเหยียดกายราบไปบนที่นอนโดย ไม่หมุนหมอน แขนทั้งสองข้างแนบลำตัว หายใจเข้าเบา ๆ พร้อมยกแขนขึ้นวางบนศีรษะเหยียดกายแอ่นขึ้น ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกเบา ๆ พร้อมกับยกแขนและหย่อนกายกลับลงมาไว้ท่าเดิมหายใจ เบา ๆ เข้าออกสามครั้ง และทำซ้ำประมาณ 5 ครั้ง
10. ก่อนนอนควรดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น นม ไมโล โอวัลติน เป็นต้น จะช่วยให้หลับสบายตลอดคืน

ดังนั้น บุคคลจึงควรนอนหลับสนิท และพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้แก่ช้า โดยเฉพาะคนช่วงวัยทองควรมีการนอนหลับช่วงพักกลางวันประมาณครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง จะช่วยชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกาย


สรุปสาระสำคัญ


    สุขภาพ คือ ภาวะแห่งความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยดี ไม่ใช่เพียงแต่ความปราศจากโรค หรือทุพพลภาพเท่านั้น แต่ภาวะของความไม่มีโรคหรือไม่บกพร่อง ยังไม่ถือว่ามีสุขภาพ แต่สุขภาพมีความหมายเชิงบวกที่เน้นความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม นั่นคือต้องมีสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพทางสังคมครบทุกด้าน

    การที่คนเราจะมีสุขภาพที่ดีได้นั้น ต้องอาศัยการดูแลปฏิบัติตนให้เหมาะสมทั้งในเรื่องของอาหารและการออกกำลังกาย ซึ่งในปัจจุบันนี้การรับประทานอาหาร คนส่วนใหญ่ต้องรับประทานอาหารนอกบ้านเนื่องจากต้องเดินทางเพื่อทำงาน ความเร่งรีบ จำเป็นต้องให้หาซื้ออาหาร ซึ่งอาจจะได้รับอาหารที่ขาดคุณภาพ มีสารพิษ มีสิ่งปนเปื้อน เช่น อาหารใส่สี ใส่สารกันบูด ใส่ผงชูรส เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังขาดการออกกำลังกาย สาเหตุจากการไม่สามารถแบ่งเวลาจากการทำงานได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ เช่น การเดินทางไปทำงานไกล รถติด งานมาก อย่างไรก็ตามควรจะได้จัดให้มีเวลาสำหรับตัวเองในเรื่องของการออกกำลังกาย เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่ดี และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น