บทที่ 6


บทที่ 6 มารยาททางสังคม


แนวคิดสำคัญ (Main Idea)

    มารยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ ส่วนคำว่า มารยาทในสังคมจะหมายถึงกรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่ามารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดีด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม

    การแสดงมารยาทที่ดีเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ บุคคลจึงควรเรียนรู้ถึงมารยาทไทยที่พึงปฏิบัติ อันเป็นมารยาทที่อ่อนช้อย งดงาม เป็นที่ประทับใจแก่บุคคลทั่วโลก นอกจากนี้ยังต้องศึกษาเกี่ยวกับการปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ เพื่อการแสดงออกที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นที่น่าชมเชยแก่ผู้พบเห็น

หัวข้อเรื่อง (Topics)

1. ความหมายของกิริยามารยาท
2. ความสำคัญของกิริยามารยาท
3. มารยาทพื้นฐานทางสังคม
4. มารยาทการทำความเคารพแบบไทย
5. การฝึกกิริยามารยาทในการรับประทานอาหาร
6. มารยาทการรับประทานอาหารแบบไทย
7. มารยาทการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่
8. มารยาทการรับประทานอาหารแบบโต๊ะจีน
9. มารยาทการรับประทานอาหารแบบยุโรป
10. มารยาทการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่น


สมรรถนะย่อย (Element of Competency)

1. แสดงความรู้เกี่ยวกับมารยาททางสังคม
2. ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับมารยาททางสังคม


จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)

1. อธิบายความหมายของกิริยามารยาทได้
2. อธิบายความสำคัญของกิริยามารยาทได้
3. อธิบายมารยาทพื้นฐานทางสังคมได้
4. บอกมารยาทการทำความเคารพแบบไทยได้
5. อธิบายการฝึกกิริยามารยาทในการรับประทานอาหารได้
6. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบไทยได้
7. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ได้
8. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบโต๊ะจีนได้
9. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบยุโรปได้
10. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่นได้


ความหมายของกิริยามารยาท

    กิริยา หมายถึง การกระทำ อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย
    มารยาท หมายถึง กิริยา วาจาที่สุภาพเรียบร้อย ที่บุคคลพึงปฏิบัติในสังคม โดยมีระเบียบแบบแผนอันเหมาะสมตามกาลเทศะ
    กิริยามารยาท หมายถึง อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย วาจาที่สุภาพเรียบร้อย มีการประพฤติปฏิบัติในขอบเขตที่เหมาะสม มีระเบียบแบบแผนถูกต้องตามกาลเทศะและลักษณะของสังคม


ความสำคัญของกิริยามารยาท


    มารยาทย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในสังคม เป็นวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงลักษณะนิสัยภายในของบุคคล และเป็นค่านิยม การแสดงออกด้วยความอ่อนน้อม ดีงาม สามารถสร้างความยินดีและความประทับใจให้ประจักษ์แก่ผู้พบเห็น หรือผู้ติดต่อสมาคมด้วยการเป็นผู้มีกิริยามารยาทดีงามและรู้จักวางตัวให้เหมาะสมกับสังคม ย่อมเป็นผู้ที่มีเสน่ห์ เป็นที่รักและชื่นชอบของผู้อื่น ทั้งยังดูมีคุณค่าในตัวเองด้วย 

จึงสรุปได้ว่ากิริยามารยาทมีความสำคัญ ดังนี้

1. สามารถครองใจคนได้ กิริยาสุภาพ พูดจาถูกกาลเทศะย่อมเป็นที่นิยมรักใคร่ของบุคคลทั่วไป
2. ทำให้มีระเบียบแบบแผน ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดี
3. ผู้ที่มีกิริยามารยาทดีสามารถถ่ายทอด อบรมสู่บุตรหลานเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง
4. ทำให้ส่งเสริมพัฒนาบุคลิกภาพให้งดงามน่าเลื่อมใสได้
5. เป็นตัวบ่งชี้ให้ทราบพื้นฐานของชาติตระกูล การอบรม การศึกษาและอาชีพ

    ดังนั้น บุคคลควรแสดงกิริยามารยาทที่ดีงามออกมาเพื่อคุณค่าของตัวเอง และควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องหลักของมารยาทต่าง ๆ ให้ทันกับการพัฒนาของสังคมโลก 
 

มารยาทพื้นฐานทางสังคม


1. มารยาทในการทักทาย การทักทายกันระหว่างบุคคล ที่เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นบุคคลบ้านใกล้เรือนเคียงหรือบุคคลทั่วไป นับเป็นสิ่งหนึ่งในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ เพราะคนเป็นสัตว์สังคม มีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้น การสร้างมนุษย์สัมพันธ์กัน จึงเป็นลักษณะธรรมชาติที่ทุกคนจะต้องมี ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในครอบครัว การทำงาน ทุกคนจะต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน จึงต้องเรียนรู้ถึงการปฏิบัติตนว่าอะไร ควรทำหรือไม่ควรทำ มารยาทในการทักทายนั้น มีหลักง่าย ๆ แต่ต้องพึงระวังดังต่อไปนี้
1.1 เริ่มที่ตนเองโดยการเข้าไปทักทายผู้อื่นก่อนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม
1.2 ทำความเคารพ ตามแบบของบุคคลที่เราเข้าไปทักทาย เช่น คนไทยใช้การไหว้ คนญี่ปุ่นใช้การโค้งคำนับ เป็นต้น
1.3 รู้จักกาลเทศะ หากทักทายกับผู้คนในสถานที่มีความเงียบให้ใช้วิธีการไหว้ ก้มศีรษะ หรือใช้วิธีการที่เงียบ ถ้าพบผู้อาวุโสโบกมือให้ ให้ก้มศีรษะรับการทักทาย ห้ามโบกมือตอบ
1.4 ใช้คำพูดที่สุภาพรื่นหูในการทักทาย ควรทักทายด้วยการให้เกียรติ คำพูดมีหางเสียงรู้จักพูดจาอ่อนน้อมถ่อมตนกับผู้อาวุโส ถ้าเป็นเพื่อนหรือคนรุ่นเดียวกันก็ต้องให้เกียรติ ไม่พูดคำหยาบคาย
การทักทายโดยการไหว้

2. มารยาทต่อคนในครอบครัว ครอบครัวของคนไทยให้เกียรติและให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่ในครอบครัวของคนไทย ถ้าครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวใหญ่ก็จะประกอบด้วย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และลูกหลานซึ่งอาจจะอยู่รวมกัน มารยาทและการให้เกียรติซึ่งกันและกันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในที่นี้จะกล่าวถึงพ่อแม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่คอยอบรมเลี้ยงดูลูก ๆ มาตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งทุกคนควรจะให้ความเคารพนับถือแสดงความกตัญญู ลูก ๆ ควรที่จะได้ปฏิบัติตนต่อพ่อแม่ในสิ่งต่อไปนี้
2.1 จดจำวันเกิด หรือวันสำคัญของคนในครอบครัวให้ได้
2.2 กล่าวคำทักทายและบอกลา พ่อแม่ เมื่อตื่นนอน และก่อนเข้านอน
2.3 หากต้องเดินทางออกไปนอกบ้าน ควรบอกกล่าวให้พ่อแม่ได้รับทราบ
2.4 หาเวลาในการรับประทานอาหาร และพูดคุยเป็นประจำสม่ำเสมอ
การรดดำน้ำหัวผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์

3. มารยาทต่อคุณครู ครูเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อลูกศิษย์ รองจากบิดามารดา เพราะครูเป็นผู้ให้ความรู้อบรมบ่มนิสัยให้ทุกคนเป็นคนดี แนะนำสั่งสอนทั้งในด้านวิชาการ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ไม่น้อยไปกว่าบิดามารดา บุคคลผู้ที่เจริญแล้วจึงให้ความเคารพนับถือ ครู เยี่ยงบิดามารดา การให้ความเคารพต่อ ครูบาอาจารย์ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ไม่ยากที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ หากลูกศิษย์ ทุกคนมีความตระหนักผลที่ได้รับก็คือความดีที่ติดตัวเราไปนั่นเอง มารยาทที่งดงามที่ลูกศิษย์ควรปฏิบัติต่อครู ได้แก่สิ่งต่อไปนี้
3.1 ทักทายครูเมื่อพบหน้าครู ด้วยการยกมือไหว้และกล่าวคำสวัสดีทุกครั้ง หากเดินพบกันในช่วงเวลาเช้าแล้ว และพบกันในช่วงบ่ายอีกก็ควรจะทำความเคารพอีก
3.2 ใช้คำพูดที่สุภาพกับครู ไม่ว่าจะเป็นการพูดต่อหน้าหรือการพูดถึงลับหลัง พูดมีหางเสียง อ่อนน้อม การเอ่ยถึงลับหลังก็ควรให้สรรพนามในการเรียกให้ถูกต้อง มีการให้เกียรติ ไม่ใช้คำพูดถึงหรือเรียกชื่อที่ไม่สุภาพ เพราะคำพูดนั้นจะสะท้อนถึงผู้พูด ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ดี หรือไม่ดี
3.3. ให้ความช่วยเหลือครูในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความเต็มใจ
3.4 เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอน ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม
3.5 เมื่อถูกตำหนิควรตระหนักไว้เสมอว่าเป็นการชี้แนะให้ปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่ถูกต้องไม่แสดงอาการหงุดหงิด หรือไม่พอใจ
การแสดงความเคารพต่อคุณครู

4. มารยาทต่อเพื่อน เพื่อนที่คบหาและอยู่ด้วยกันกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนที่เป็นนักเรียน นักศึกษาของเรา ยิ่งสนิทสนมกันมากเท่าไหร่ยิ่งต้องรักษามารยาทให้มาก เพราะการที่คนเราจะสนิทสนม รักใคร่กันต้องใช้ระยะเวลาในการสะสมความรู้สึกดี ๆ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จึงควรรู้จักที่จะรักษาและถนอมน้ำใจกันไว้ โดยต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
4.1 ปฏิบัติต่อเพื่อนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่แสดงอาการรังเกียจ หรือท่าทีมึนตึงกับเพื่อน คนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะรักใคร่ชอบพอหรือไม่
4.2 พยายามศึกษาและเข้าใจลักษณะนิสัยของเพื่อนแต่ละคน โดยยึดหลักความแตกต่างระหว่างบุคคล
4.3 รักษาความลับของเพื่อน ไม่เปิดเผยปมด้อยของเพื่อน หรือพูดให้ได้รับความอับอาย
4.4 ใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่ใช้คำหยาบกับเพื่อน ถึงแม้จะเป็นเพื่อนสนิทสนมก็ไม่ควรทำ
ให้ความช่วยเหลือเพื่อนด้วยความเต็มใจ

สรุปสาระสำคัญ


    การได้ศึกษาหาความรู้ถึงหลักมารยาทถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด บรรพบุรุษได้พยายามสั่งสอน วางหลักเกณฑ์สิ่งที่ดีงามเพื่อให้ลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ ไปได้ยึดถือปฏิบัติ นับเป็นความงดงามของสังคมที่ควรจะได้อยู่คู่กับทุกชนชาติ เพราะการมีมารยาทที่ดีเป็นสิ่งที่ช่วยให้สังคมดี สังคมน่าอยู่ช่วยเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยว และขัดเกลาให้คนเป็นคนดี มีคุณค่าในตัวเอง คุณค่าของสังคมไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาทที่ดีด้านใด ย่อมทำให้ผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้มองดูดีในสายตาของคนอื่น และตัวผู้ปฏิบัติเองก็เกิดความภาคภูมิใจ

    มารยาทเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในสังคม เป็นวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงลักษณะนิสัยภายในบุคคล และเป็นค่านิยมในทางสุภาพอ่อนโยนอ่อนน้อม ดีงาม สามารถสร้างความยินดีและความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น ผู้ที่ติดต่อสมาคมด้วย ผู้ที่มีกิริยามารยาทดีงามและรู้จักการวางตัวที่เหมาะสมในสังคม ย่อมเป็นผู้ที่มีเสน่ห์ เป็นที่น่าสนใจของผู้อื่น อีกทั้งยังดูมีคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นบุคคลจึงควรแสดงออกอย่างดีงาม ไม่ว่าจะเป็นกิริยา อาการ และถ้อยคำวาจา เพื่อทำให้เป็นผู้มีคุณค่าและเป็นที่ ชื่นชมของทุกคนในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น